posttoday

IDC Robocon 2017

30 กันยายน 2560

เด็กไทยก็เก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก เมื่อศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ

โดย มีนา 

 เด็กไทยก็เก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก เมื่อศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่ง 5 นักศึกษาตัวแทนประเทศไทยที่ชนะเลิศจากการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 10 เข้าร่วมแข่งขันการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ  “IDC Robocon 2017” ณ เมืองหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา

 ภายใต้โจทย์ “Silk Road” ร่วมกับเยาวชนตัวแทนจาก 8 ประเทศ รวม 55 คน โดยได้มีการจัดแบ่งกลุ่มเป็นทีมละ 4-5 คน แบบคละสมาชิกต่างประเทศและมหาวิทยาลัย

IDC Robocon 2017

 สำหรับผลการแข่งขัน ปรากฏว่านักศึกษาตัวแทนประเทศไทย ทำผลงานยอดเยี่ยมคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 คือ ฐิติมา สุขจิตร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ทีม Skyblue สุทิวัส ญาณชโลทร จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทีม Blue คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 และ วิวัฒน์ ศิลารักษ์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทีม White คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 

 ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ในฐานะประธานจัดการแข่งขัน กล่าวถึงความสำเร็จในครั้งนี้ว่า รู้สึกภูมิใจกับนักศึกษาทุกคนที่มีโอกาสเข้าแข่งขันในเวทีระดับนานาชาติ ทำให้ความสามารถด้านหุ่นยนต์ของเยาวชนไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น นอกจากการเรียนแล้วจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์ด้วย

 “แม้ว่าการแข่งขันหุ่นยนต์จะจำกัดด้วยระยะเวลา แต่เยาวชนไทยมีความมุ่งมั่นตั้งใจและพยายามทำงานร่วมกับเพื่อนสมาชิกในทีมที่แตกต่างทางที่ใช้สื่อสาร หากมีการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐ เยาวชนต้นกล้าเหล่านี้จะช่วยสร้างแรงขับเคลื่อนและเติบโตเป็นบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่มีคุณภาพและช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศในยุคไทยแลนด์ 4.0 อย่างแน่นอน”

IDC Robocon 2017

 ขณะที่ ฐิติมา สุขจิตร นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 กล่าวว่า ตนได้จับสลากอยู่ทีม “Sky Blue” ร่วมกับเพื่อนอีก 4 ชาติ คือ อียิปต์ เม็กซิโก ญี่ปุ่น และจีน โดยตนทำหน้าที่เป็นแมคคานิกส์ คือ ออกแบบหุ่นยนต์ด้านกลไก ซึ่งการแข่งขันเต็มไปด้วยความสนุก ตื่นเต้นและต้องมีการแก้ไขปัญหาอยู่ตลอดเวลา หน้าที่หลักของฐิติมาในการร่วมทีม สกาย บลู คือ คิดกลไกหุ่นยนต์ 2 ตัว โดยฐิติมาจับคู่ทำกับเพื่อนชาวญี่ปุ่น

 “บรรยากาศการแข่งขันคือคณะกรรมการให้โจทย์ในขณะแข่งขันโดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ พื้นดินกับทะเล ฝั่งพื้นดินเขาให้เรานำหุ่นยนต์ของทีมไปชนกับกล่องที่บรรจุลูกปิงปองแล้วให้ลูกปิงปองไหลสู่หุ่นยนต์ที่รออยู่ด้านล่างของเรา

 "หน้าที่ของหนูคือออกแบบกลไก พอได้โจทย์ เราทำหุ่นยนต์สองตัวแบ่งใช้ภาคพื้นดินกับทะเล หุ่นภาคพื้นดินเราใช้เป็นคีพเปอร์มีแขนเพื่อหยิบกล่อง แต่ตอนเก็บปิงปองเอาไปชน เราทำฐานเป็นแผ่นไม้เพื่อรองรับปิงปองไว้ที่ตัวหุ่น ก็เป็นเทคนิคทำให้เราชนะเพราะทีมหนูได้ลูกปิงปองเยอะมาก"

 เธอเล่าว่า ตัวหุ่นยนต์พื้นดินมีปัญหาเยอะ เพื่อนชาวจีนกับอียิปต์ทำคีพเปอร์อยู่พื้นดิน เธอทำงานกับเพื่อนชาวญี่ปุ่นในภาคทะเล

IDC Robocon 2017

 "ของหนูทำง่ายมากๆ แต่เวิร์กมาก เพราะเราทำระบบง่ายๆ ทำเหมือนรอกหุ่นยนต์ พอไปแตะปิงปองปุ๊บ ปิงปองจะลงมาในหุ่นหมดเลย พอเราเก็บปิงปองเสร็จเอาไปใส่ในตำแหน่งที่เราต้องการ โดยเราทำเป็นรอกใช้ระบบขับเคลื่อนรอกด้วยเซอร์โว เป็นตัวขับเคลื่อน 360 องศา หมุนได้ทุกทิศทุกทาง จะได้ความแม่นยำ หุ่นเราเจาะรูไว้ให้พอดีกับลูกปิงปองหนึ่งลูก เวลาเราเคลื่อนรอก แผ่นกระดานจะขึ้นมาด้วย ลูกปิงปองก็จะไหลลงรูตามที่เรากำหนดทำให้การทำงานแม่นยำที่สุด”

 สำหรับความประทับใจจากรองแชมป์คนเก่ง ฐิติมา คือการทำงานเป็นทีมเวิร์กสำคัญที่สุด โดยเพื่อนๆ ในทีมต่างรับฟังความคิดเห็นของแต่ละคนเพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาหุ่นยนต์ของทีมให้ดีที่สุด

 "และอีกข้อ คือได้รับประสบการณ์มาเยอะมาก ซึ่งเราหาไม่ได้ในห้องเรียน เพราะเวลาลงแข่งทุกแมตช์ แน่นอนว่าย่อมต้องมีปัญหามาให้เราแก้ไขทุกครั้ง ซึ่งทุกคนต่างก็ช่วยกันแก้ไขปัญหากันอย่างเต็มที่ ส่วนอุปสรรคที่เจอก็จะเป็นเรื่องภาษา ซึ่งยอมรับว่าแรกๆ จะไม่ค่อยกล้าพูดคุย เพราะตนพูดอังกฤษไม่เก่ง แต่ก็สามารถสื่อสารได้  

 "พอมาช่วงหลังๆ ที่มีการเบรนสตรอมหรือระดมสมองก็เริ่มกล้าคุยมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่ต้องเตรียมไปอีกในการแข่งระดับนานาชาติคือ ความรู้พื้นฐาน เช่น การเขียนโปรแกรม การใช้เครื่องมือช่าง ระบบอิเลกทรอนิกส์ขับเคลื่อน เพราะเวลาทำงานกันเป็นทีมจะเราได้สามารถช่วยเพื่อนในทีมได้เต็มที่"