posttoday

รำลึกถึง “สมเด็จเกี่ยว”

05 มกราคม 2563

โดย..อุทัย มณี (เปรียญ)

โดย..อุทัย มณี (เปรียญ)

ผู้เขียนได้รับหนังสือเกี่ยวกับชีวิตและความคิดของ สมเด็จเกี่ยวหรือสมเด็จพระพุฒาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และอดีต ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช หลังได้อ่านหนังสือเล่มนี้บางส่วนแล้ว รู้สึกคิดถึงท่านยังบอกไม่ถูก ยิ่งหวนนึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในวัดสระเกศในช่วงเวลาหลายปีมานี้ ยิ่งทำให้นึกถึงสมเด็จเกี่ยวมากยิ่งขึ้น บอกตรง ๆ คือ สงสารสมเด็จเกี่ยว

รำลึกถึง “สมเด็จเกี่ยว”

สมเด็จพระพุฒาจารย์ นามเดิม เกี่ยว โชคชัย ฉายา อุปเสโณ เกิดเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2471 และมรณภาพเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ณ เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี หากพระองค์ยังมีชีวิตอยู่ในวันเสาร์ที่ 11 มกราคม ที่จะถึงนี้พระองค์ก็จะมีอายุ 92 ปี คณะศิษยานุศิษย์คงฉลองจัดงานให้สมพระเกียรติแน่ ๆ เนื่องจากพระองค์เป็นที่เคารพสักการะจากชาวพุทธทุกหมู่เหล่า

ผู้เขียนเคยกราบสมเด็จเกี่ยวไม่กี่ครั้ง เพราะในห้วงเวลาที่พระองค์ยังมีชีวิตอยู่เรายังเป็นพระผู้น้อยทำนองว่าเข้าไม่ถึงประมาณนั้น แต่สมเด็จเกี่ยวเป็นสหายธรรมกับพระอุปัชฌาย์ของผู้เขียนคือ พระมงคลสิทธิคุณ หรือหลวงพ่อลำใย ปิยวณฺโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดทุ่งลาดหญ้า จ.กาญจนบุรี มีช่วงหนึ่งที่หลวงพ่อลำใยสร้างวัดพักคนชรา สมเด็จเกี่ยวก็ไปเยี่ยมและให้กำลังใจ หลวงพ่อลำใยเล่าให้ฟังว่า

“สมเด็จเกี่ยวเป็นสหายธรรมของหลวงพ่อ เจอที่ไหนมักจะเรียกชื่อและให้ไปนั่งใกล้ ๆ ทุกครั้ง ยิ่งงานปลูกเสกวัตถุมงคลหากพระองค์เสร็จมาเป็นประธาน เมื่อเจอหลวงพ่อนั่งปลูกเสกอยู่ก็จะเดินตรงมาจับมือและทักทายเป็นประจำ เนื่องจากสมเด็จเกี่ยวเป็นพระที่มีเมตตาตาสูงเป็นพระปฎิบัติดีปฎิบัติชอบ”

รำลึกถึง “สมเด็จเกี่ยว”

ในหนังสือ “ชีวิตและความคิด” สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโน) พระมหาเถระผู้เป็นประวัติศาสตร์ความทรงจำพระพุทธศาสนาโลก มีความว่า

สมเด็จเกี่ยว เคยเรียนพระกรรมฐานเบื้องต้นในห้วงเวลาที่เป็นสามเณรตอนอายุ 12 ขวบด้วยจากหลวงพ่อพริ้ง ซึ่งเป็นพระวิปัสสนาจารย์ชื่อดังของเกาะสมุยในยุคนั่น ต่อมาเมื่อมาอยู่จำพรรษาวัดสระเกศก็ได้เรียนพระกรรมฐานจาก สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญชำนาญการในพระกรรมฐานด้านกสิณ..

หากไม่นับ พระพิมลธรรม (อาจ อาสภรเถร) อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ ซึ่งเป็นพระสงฆ์องค์แรกที่มีวิสัยทัศน์นำพระภิกษุออกไปเรียนต่างประเทศและเชื่อมสัมพันธ์กับองค์กรต่างศาสนาแล้ว สมเด็จเกี่ยวคือ “เบอร์หนึ่ง” ของคณะสงฆ์ไทยที่มีวิสัยทัศน์ต่อยอดจากพระพิมลธรรมทำไว้ ด้วยกันริ่เริ่มเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ ริเริ่มสร้างวัดไทยในต่างประเทศ รวมทั้งริเริ่มให้มีการ “อบรมพระธรรมทูต” เพื่อไปประจำ ณ วัดไทยในต่างประเทศ อันนี้ไม่นับรวมการริเริ่มฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศจีนและประเทศอื่น ๆ ในอีกหลายประเทศ

รำลึกถึง “สมเด็จเกี่ยว”

ในด้านการศึกษาแน่นอน สมเด็จเกี่ยว คือผู้วางรากฐานสำคัญให้ มหาจุฬา ฯ กลายเป็นเบอร์หนึ่งในมหาวิทยาลัยสงฆ์โลกอยู่ในทุกวันนี้ ดังคำของท่านตอนหนึ่งว่า

“มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและมหามกุฎราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่งนี้ ต้องทำให้เป็นหลักเข้าไว้ ต้องเป็นหลักในการให้การศึกษาแก่พระเณร หาไม่แล้วพระพุทธศาสนาในเมืองไทย ก็จะไม่ต่างอะไรกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งก็เห็นกันอยู่แล้ว”

แม้แต่ภัยคนต่างศาสนาพระองค์ก็เตือนเอาไว้ เช่นความตอนหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ท่านกล่าวไว้ว่า

“ตอนนี้ พระบารมีของพระมหากษัตริย์ไทยยังอยู่ จึงทำให้พระพุทธศาสนาในเมืองไทย ยังเปลี่ยนแปลงช้ากว่าสิ่งอื่น แต่ต่อไปจะเปลี่ยนแปลงเร็ว ต่อไปสังคมจะหมุนเร็ว พระศาสนาก็จะเปลี่ยนแปลงเร็วตามไปด้วย จะไม่ใช่อย่างทุกวันนี้แล้ว ให้จำคำหลวงพ่อไว้ ไม่เกิน พ.ศ. 2594 บ้านเมืองจะไม่ใช่อย่างนี้แล้ว พระเณรต้องมีการศึกษา จึงจะนำพาพระพุทธศาสนาให้อยู่รอดได้..

รำลึกถึง “สมเด็จเกี่ยว”

มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่งต้องเป็นหลักให้พระเณรได้ไปศึกษาเล่าเรียน อย่างปี 2518 ประเทศเพื่อนบ้านล้มระบบพระมหากษัริย์หมด ล้มระบบศาสนาหมด เมื่อไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ไม่มีสถาบันพระพุทธศาสนา จึงขอให้พระศาสนาได้ตั้งมั่นอยู่ในประเทศไทยคู่กับสถาบันชาติและสถาบันพระมหากษัริย์.. ”

ผู้เขียนคัดเอาบางตอนบางส่วนในหนังสือชิวิตและความคิด ของสมเด็จเกี่ยว หรือสมเด็จพระพุฒาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร มาเล่าสู่กันฟัง เมื่อรำลึกถึงพระองค์เนื่องในคล้ายวันเกิดของพระองค์วันที่ 11 ที่จะถึงนี้ สมเด็จเกี่ยวคือผู้มีคุณูปการอันใหญ่หลวงต่อคณะสงฆ์ไทยและพระพุทธศาสนาและพร้อมกันนี้ลงชีวิตและความคิดของท่านเอาไว้ เพื่อเตือนสติชาวพุทธให้เห็นภัยของพระพุทธศาสนาที่เกิดจากทุกทิศทุกทาง รักกันเอาไว้ สามัคคีกันเอาไว้ ร่วมมือกันเอาไว้คำว่า แมลงวันย่อมไม่ตอมพวกเดียวกันเอง ยังใช้ได้เสมอ