posttoday

ความยิ่งใหญ่ ของวัดสามพระยาที่หลายคนไม่รู้

05 สิงหาคม 2561

มีธรรมเนียมปฏิบัติอย่างหนึ่ง เมื่อถึงวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ของทุกปี วัดสามพระยา แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพฯ

โดย วรธาร ทัดแก้ว 

มีธรรมเนียมปฏิบัติอย่างหนึ่ง เมื่อถึงวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ของทุกปี วัดสามพระยา แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพฯ จะมีพิธีปฐมนิเทศเปิดเรียนโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ส่วนกลาง วัดสามพระยา ชั้นประโยค ป.ธ.7, 8, 9 ซึ่งก็จะมีภิกษุสามเณรที่เรียนชั้นดังกล่าวจากวัดต่างๆ เดินทางมาร่วมพิธี ณ ศาลาอบรมสงฆ์ วัดสามพระยา

หลังจากปฐมนิเทศก็เป็นอันเข้าสู่โหมดของการเรียนต่อไป โดยอาทิตย์หนึ่งจะเรียนอยู่ 5 วัน หยุดวันพระและวันอาทิตย์ เวลาเรียน 16.00 น. ไปจนถึง 18.00 น. แต่ปีนี้วันขึ้น 1 ค่ำเดือน 9 ตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 ส.ค. 2561 จึงต้องเลื่อนปฐมนิเทศไปวันจันทร์ที่ 13 ส.ค. 2561

ธรรมเนียมนี้เกิดขึ้นมานานตั้งแต่สมัยที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร ป.ธ.9) อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา ดำรงตำแหน่ง “แม่กองบาลีสนามหลวง” (ระหว่าง พ.ศ. 2503-2531) โดยท่านได้ตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ วัดสามพระยา ขึ้นมาให้เป็นของคณะสงฆ์สำหรับให้ภิกษุสามเณรได้มาเรียนรวมกันทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เปิดสอนเฉพาะประโยค ป.ธ.8 และ 9 ต่อมาได้เปิดสอน ป.ธ.7 ด้วย

การที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ดำริให้ตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ขึ้นที่วัดสามพระยานั้น เนื่องจากท่านเห็นว่าสำนักเรียนบาลีที่เปิดสอน ป.ธ.8-9 ในยุคนั้นมีน้อยมาก ประกอบกับครูอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการสอนก็หายาก ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการตั้งโรงเรียนดังกล่าว และผลของการตั้งโรงเรียนนี้ ปรากฏว่ามีภิกษุสามเณรวัดต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่เรียนประโยค ป.ธ.7, 8, 9 เดินทางมาเรียนที่วัดสามพระยาจำนวนมากจนถึงปัจจุบัน

เพราะฉะนั้นวัดสามพระยาจึงถือเป็นวัดที่สร้างมหาเปรียญระดับเปรียญเอก (7-8-9) มากมายมหาศาล โดยเฉพาะผู้ที่จบประโยค ป.ธ.9 ตั้งแต่สมัยที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ดำรงตำแหน่งแม่กองบาลีสนามหลวงถึงปัจจุบัน ที่มีจำนวนถึง 1,600 กว่ารูป ไม่ว่าตอนนี้จะอยู่ในสมณเพศหรือลาสิกขาไปแล้วน้อยนักที่จะไม่เคยเรียนที่วัดสามพระยา ลองถามผู้ที่จบประโยค 9 ดูได้ว่าเรียนที่ไหน

ความยิ่งใหญ่ ของวัดสามพระยาที่หลายคนไม่รู้

นี่คือความยิ่งใหญ่ของวัดสามพระยากับการเป็นศูนย์กลางการศึกษาแผนกบาลีของคณะสงฆ์ ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ถ้าไม่มีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ส่วนกลาง ก็อาจจะไม่เกิดขึ้นที่วัดสามพระยาก็เป็นได้

หากย้อนความเป็นมาของสำนักเรียนวัดสามพระยากว่าจะมาถึงภารกิจมากมายในปัจจุบัน เช่น การเปิดสอนพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและบาลี ชั้นประโยค 1-2-ป.ธ.9 เป็นสถานที่ตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมคณะสงฆ์ส่วนกลาง ประโยค ป.ธ.7-8-9 เป็นสถานที่สอบบาลีสนามหลวง ชั้นประโยค ป.ธ.7-8-9 ทั่วประเทศ เป็นสถานที่สอบบาลีสนามหลวง ชั้นประโยค ป.ธ.5 ในเขตกรุงเทพฯ เป็นสถานที่ตรวจข้อสอบบาลีสนามหลวง เป็นสถานที่สอบธรรมสนามหลวง ในเขตกรุงเทพฯ และสถานที่ตรวจข้อสอบธรรมสนามหลวงทั่วประเทศ

เดิมที วัดสามพระยา มิได้เน้นการศึกษาด้านปริยัติมากนัก แต่เน้นวิปัสสนาเป็นหลัก ต่อมาสมัย พระเทพเมธี (ครุฑ ป.ธ.4) พ.ศ. 2436-2480 เป็นเจ้าอาวาส จึงตั้งโรงเรียนนักธรรมและบาลีขึ้น มีภิกษุสามเณรสอบได้ทั้งนักธรรมและบาลีมากขึ้น และในสมัยนั้นได้มีการเรียนการสอนภาษาไทยขึ้นมา ซึ่งได้สร้างโรงเรียนขึ้นหลังหนึ่ง ทำการเปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมถึงมัธยมกลาง มีนักเรียนประมาณ 200 คนเศษ

ยุคสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร)

ความยิ่งใหญ่ ของวัดสามพระยาที่หลายคนไม่รู้

ต่อมาระหว่าง พ.ศ. 2481-2539 สมัยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นเจ้าอาวาส การศึกษาพระปริยัติธรรมโดยเฉพาะแผนกบาลีได้เจริญรุ่งเรืองมาก มีการเรียนการสอนตั้งแต่บาลีประโยค ป.ธ.3-9 โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เป็นทั้งเจ้าสำนักเรียน และเป็นครูสอนบาลีประโยค ป.ธ.4 ของสำนักเรียนและเป็นครูสอนบาลีประโยค ป.ธ.9 โรงเรียนพระปริยัติธรรมคณะสงฆ์ส่วนกลางวัดสามพระยา ที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ได้ตั้งขึ้นมาให้เป็นของคณะสงฆ์สำหรับให้ภิกษุสามเณรได้มาเรียนรวมกันทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด เปิดสอนประโยค ป.ธ.8-9 ต่อมาได้เปิดสอน ป.ธ.7 ด้วย

ในปี 2489-2503 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ได้เปิดสำนักอบรมครูวัดสามพระยา (ส.อ.ส.) เพื่อให้ภิกษุสามเณรได้ศึกษาเล่าเรียนทั้งในด้านการปกครอง ด้านการศึกษา ด้านการเผยแผ่ และด้านสาธารณูปการ ซึ่งสำนักอบรมครูวัดสามพระยานี้เป็นที่สนใจของภิกษุสามเณรทั่วทุกแห่ง โดยจะพากันมาอบรมเป็นประจำปีละจำนวนมากจนไม่มีสถานที่จะอบรมเพียงพอจนต้องสร้างสถานที่ชั่วคราวมุงจากขึ้นใหม่ แต่ก็ยังไม่เพียงพอจนรัฐบาลในยุคนั้นเห็นความสำคัญจึงได้สร้างศาลาอบรมสงฆ์ และตึกพักสงฆ์แบบถาวรขึ้นถวายไว้ในวัดสามพระยา

การอบรมได้ดำเนินมาเป็นลำดับจนกระทั่งถึงการอบรมครั้งสำคัญ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นครั้ง “ประวัติศาสตร์ของคณะสงฆ์ไทย” นั่นคือ เมื่อปีฉลอง 25 พุทธศตวรรษ พระสงฆ์ทั่วสารทิศทั้งภายในและภายนอกประเทศมาเข้ารับการอบรมเป็นจำนวนมากที่สุดถึง 2,500 รูป เป็นครั้งสำคัญที่สุด การจัดสถานที่ออกเป็นหน่วยย่อยๆ เพื่อให้เพียงพอและรวดเร็วแก่ระยะเวลาการอบรมได้ดำเนินมาเป็นลำดับ นับได้ว่าสำนักอบรมครูวัดสามพระยาแห่งนี้ได้ก่อคุณประโยชน์อย่างไพศาลแก่การคณะสงฆ์ไทยเป็นอย่างยิ่ง

ภิกษุที่เข้ารับการอบรมจะได้รับความรู้และประสบการณ์ต่างๆ จากพระเถรานุเถระชั้นผู้ใหญ่เกือบทุกระดับที่มาถวายความรู้และจากหน่วยงานต่างๆ ที่มาถวายความรู้ให้แต่ละครั้ง ยิ่งไปกว่านั้นผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับความอนุเคราะห์จากผู้อำนวยการสถานที่สำคัญๆ ให้เข้าชมสถานที่นั้นๆ อย่างทั่วถึง เช่น พระบรมมหาราชวัง พระที่นั่งอนันตสมาคม ทำเนียบรัฐบาล เป็นต้น ตามปกติจะไม่มีโอกาสได้เข้าชมง่ายๆ นับว่าท่านที่เข้ารับการอบรมจะไดรับประสบการณ์โดยตรง

ความยิ่งใหญ่ ของวัดสามพระยาที่หลายคนไม่รู้

ในปี 2495 สำนักอบรมครูวัดสามพระยาได้ตั้งโรงเรียนขึ้นโรงเรียนหนึ่งชื่อว่า “สภาการศึกษาแห่ง ส.อ.ส.” วัตถุประสงค์เพื่อฝึกอบรมภิกษุสามเณรที่สอบเปรียญธรรมได้และมีความรู้ทางพระพุทธศาสนาพอสมควร ได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาสามัญมีภาษาอังกฤษเป็นหลัก เมื่อสำเร็จจากสำนักนี้แล้วจะถูกส่งไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศหรือในต่างจังหวัด อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าเสียดายที่ ส.อ.ส. ต้องเลิกไปด้วยเหตุผลบางประการ

นอกจากนี้ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ยังดำริตั้งโรงเรียนพระสังฆาธิการขึ้น โดยได้เสนอต่อคณะกรรมการมหาเถรสมาคม และคณะกรรมการมหาเถรสมาคมได้มีมติเห็นชอบให้ตั้งขึ้นที่วัดสามพระยาเป็นแห่งแรก โดยชื่อว่า “โรงเรียนพระสังฆาธิการ” วัตถุประสงค์เพื่อจะให้พระสังฆาธิการทั่วประเทศได้เสริมสร้างและศึกษาหาความรู้และเทคนิค หรือกลไกในการปกครองที่ใหม่ให้เจริญก้าวหน้าเพื่อดำรงพระพุทธศาสนาให้วิวัฒนาการยิ่งๆ ขึ้นไป อีกประการหนึ่ง เพื่อให้การปกครองของคณะสงฆ์มีส่วนสัมพันธ์กับการปกครองของราชอาณาจักรได้เป็นอย่างยิ่ง

โรงเรียนนี้ได้เปิดเรียนรุ่นแรกที่วัดสามพระยาก่อน จึงถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีของคณะสงฆ์ไทยที่ได้มีการริเริ่มขึ้นในครั้งนั้น ต่อมาภายหลังจากสิ้นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์แล้ว ด้วยความสำนึกในพระคุณของท่านผู้เป็นต้นแบบคณะสงฆ์ก็ยังใช้สถานที่ภายในวัดสามพระยาเป็นสถานที่ประชุมและอบรมพระสังฆาธิการอยู่เสมอมาจนถึงปัจจุบัน เช่น งานอบรมพระอุปัชฌาย์ทั่วประเทศ งานประชุมพระสังฆาธิการในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นต้น

พ.ศ. 2505 กรมการศาสนา โดยมติมหาเถรสมาคมให้ตั้งโรงเรียนขึ้นที่วัดสามพระยา ให้ชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนครูสอนพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์” วัตถุประสงค์เพื่อให้ภิกษุสามเณรที่สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยคขึ้นไป เข้าศึกษาวิชาสามัญและวิชาครู เมื่อสำเร็จแล้วจะได้เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมในสถาบันต่างๆ ของคณะสงฆ์ หรืออาจจะช่วยสอนตามโรงเรียนต่างๆ ตามสถานที่ทางราชการ

ยุคสมเด็จพระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม)

ความยิ่งใหญ่ ของวัดสามพระยาที่หลายคนไม่รู้

พ.ศ. 2539-2561 สมัยพระราชปริยัติบดี (เอื้อน หาสธมฺโม ป.ธ.9, Ph.D.) สมณศักดิ์สุดท้ายก่อนที่จะถูกดำเนินคดีเงินทอนวัด คือ พระพรหมดิลก เป็นเจ้าอาวาส ก็ได้เจริญรอยตาม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ในการส่งเสริมสนับสนุนภิกษุสามเณรให้ได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลีมาตลอด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2539-2541 ได้ดำเนินการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์หมู่กุฎีสงฆ์วัดสามพระยา และรับภิกษุสามเณรจำนวนมากเข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและบาลี

ในปี 2541 ได้ทำการเปิดสอนพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลีเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยแผนกบาลีเปิดสอนตั้งแต่บาลีไวยากรณ์ถึงบาลีประโยค ป.ธ.9 และแค่เปิดเรียนปีแรกในยุคของพระพรหมดิลก ก็มีผู้สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค ในปี 2542 ก็คือ สามเณรอิทธิยาวุธ เสาวลักษณ์คุปต์ และถ้านับตั้งแต่ปี 2542-2561 มีผู้สอบได้ ป.ธ.9 ทั้งหมดรวม 44 รูป ถือได้ว่า พระพรหมดิลก เป็นพระนักปั้นมหาเปรียญ 9 ประโยครูปหนึ่งอย่างมิต้องสงสัย

ปัจจุบัน วัดสามพระยา มี พระเทพวิสุทธิดิลก (ละเอียด กิตฺติสุขุโม ป.ธ.9) เป็นรักษาการเจ้าอาวาสวัดสามพระยา