posttoday

พระธรรมวิทยากร 4.0

01 กรกฎาคม 2561

กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ สถาบันส่งเสริมและเผยแพร่การพระศาสนาแห่งประเทศไทย

โดย...พระครูปลัดสุวัฒนวชิรคุณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดยานนาวา

กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ สถาบันส่งเสริมและเผยแพร่การพระศาสนาแห่งประเทศไทย จัดโครงการพัฒนาสมรรถนะพระธรรมวิทยากรเผยแผ่พระพุทธศาสนา ภายใต้กองทุนส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา โดยมี พระพรหมวชิรญาณ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดยานนาวา ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและเผยแพร่การพระศาสนาแห่งประเทศไทย เป็นประธานอำนวยการอบรม ระหว่างวันที่ 26-30 มิ.ย. 2561 ณ วัดยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร

สมเด็จพระพุฒาจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม วัดไตรมิตรวิทยาราม เมตตาให้โอวาทแก่พระธรรมวิทยากรว่า การทำหน้าที่พระธรรมวิทยากรนั้นสำคัญอย่างยิ่ง นับเป็นการเผยแผ่พัฒนาจิตใจ หล่อหลอมร่วมจิตใจประชาชนเพื่อน้อมนำไปประพฤติในชีวิต เพราะหลักธรรมที่เป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนานั้น หากท่านใดสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ จักประสบสุขและมีสันติสุขได้ 

“พระธรรมวิทยากรนั้นสำคัญในหน้าที่โดยเฉพาะคำพูด เพราะปากหากใช้ผิดที่ผิดทางสร้างความเสียหายมหาศาล คำพูดนั้นหากพูดดี พูดถูกกาลเทศะ จักมีพลังมาก ทำให้คนโง่กลายเป็นคนฉลาดได้ ทำให้คนขี้เกียจกลายเป็นคนขยันได้ คนท้อแท้จักมีกำลังใจ แม้ศัตรูยังกลับกลายเป็นมิตรได้ ขอให้พระธรรมวิทยากร รู้จักคุณค่าของหน้าที่ ทำตามหน้าที่ ทำไม่เกินหน้าที่ ไม่ละเลยหน้าที่

พระพุทธศาสนาเผยแผ่มาถึงทุกวันนี้ได้ เพราะทุกคนได้ทำหน้าที่ เพราะหน้าที่นั้นสร้างความแข็งแกร่งให้พระพุทธศาสนาได้ เพราะหากขยันทำตามหน้าที่ มีความไม่ประมาท ฉลาดรู้เท่าทัน จัดการงานดี นับเป็นคุณสมบัติที่ดีของพระธรรมวิทยากร และต้องตระหนัก ในหลัก 2 ประการสำคัญ คือ 1.อย่าเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย 2.อย่าเห็นแก่เล็กแก่น้อย หากพระธรรมวิทยากรปฏิบัติหน้าที่ได้ตามนี้ ท่านจะเจริญรุ่งเรืองในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และดำรงตนเป็นที่พึ่งที่ดีของประชาชน” 

มานัส ทารัตน์ใจ อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวว่า การอบรมพระธรรมวิทยากร โครงการพัฒนาสมรรถนะพระธรรมวิทยากรเผยแผ่พระพุทธศาสนา ภายใต้กองทุนส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จัดโดย กรมการศาสนา ร่วมกับ สถาบันส่งเสริมและเผยแพร่การพระศาสนาแห่งประเทศไทย เพื่อการส่งเสริมคุณธรรม “พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา” คุณธรรมในการขับเคลื่อนสังคมของประเทศไทย ในยุค 4.0 และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่าย “มุมมองการปฏิบัติงานในพื้นที่ของพระธรรมวิทยากร 4 ภาค ส่งเสริมการจัดทำสื่อออนไลน์เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในยุคดิจิทัล ฯลฯ

ศ.ดร.อุทิส ศิริวรรณ กล่าวว่า พระธรรมวิทยากรในยุค 4.0 ต้องเตรียมตัวอย่างไร ประเด็นแรก “วัตถุดิบ” คือธรรมะ ต้องเลิกสอนแบบเดิมๆ พยายามใช้ R&D วิจัยและพัฒนา กับ C&D ลอกเลียนและเรียนรู้ เฟ้นหา “นักพูด” และ “นักเทศน์” ต้นแบบมาเป็นแบบอย่าง ฝึกวิจัยธรรมะก็ต่อยอดปรับใช้และตอบโจทย์แบบพุ่งเป้า ธรรมะยุคดิจิทัล ที่เหมาะกับแนวคิดไทยแลนด์ 4.0 “มั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน” คือ “วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน” และหมวดบารมีมงคลสูตรต่างๆ

“โลกกำลังอยู่ในรอยต่อการเปลี่ยนผ่าน แนวคิด ‘หาข้อเสียจากข้อดี’ เปลี่ยนเป็น ‘หาข้อดีจากข้อเสีย’ ประเทศไทยติดกับดัก ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และความไม่เสมอภาค การศึกษาก็เปลี่ยนไป การเรียนรู้เป็นการไม่เรียนรู้ และการเรียนซ้ำๆ ต้องทำความเข้าใจ แนวคิดคนไทย 4.0 การศึกษา 4.0 สังคม 4.0 เกษตรกร 4.0 SMEs 4.0 จังหวัด 4.0 ต้องสนใจและปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงเกิดจากกระแสโลกาภิวัตน์ กระแสดิจิทัล กระแสย้ายมาอยู่ในเมืองของชาวชนบท กระแสร่วมทุกข์สุขเหมือนกันทั่วโลก การเผยแผ่ยุคดิจิทัลต้องใช้สื่อออนไลน์ ทั้งทวิตเตอร์ ยูทูบ เฟซบุ๊ก ไลน์ ให้เป็น” 

ด้าน ปรางรัตน์ เกียรติทรงศักดิ์ ผู้จัดการทั่วไปอาวุโส CPAll บรรยายถวายความรู้แก่พระธรรมวิทยากรว่า การบรรยายเล่าเรื่อง...ให้เป็นเรื่องนั้น 1.เล่าให้ช้า 2.พรรณาให้ชัด 3.มีจังหวะหยุดพัก 4.ไม่ต้องเว่อร์นัก 5.มีหักมุม การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในปัจจุบันนั้นการทำงานอย่างมีประสบการณ์เพื่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องประยุกต์ความรู้ใหม่ ว่าเป้าหมายคือใคร การเตรียมตัว ไหวพริบปฏิภาณ การเป็นผู้ให้ และเมตตาสุภาพอ่อนโยน นับเป็นการเผยแผ่ที่ร่วมสมัย

พระครูปลัดสุวัฒนวชิรคุณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดยานนาวา กล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่ใครสักคนจะมีความพร้อมที่จะเป็นพระวิทยากรได้ แต่สิ่งที่หนึ่งที่ทำได้คือใช้ความซื่อผสมกับความง่ายงาม และจัดการความพอดีให้เหมาะอย่าให้ “เกิน” ในยุคดิจิทัลนี้ โลกเปลี่ยน สังคมปรับ ยุคดิจิทัลนั้นรวดเร็ว ไร้ขอบเขตจำกัด ซึ่งสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานร่วมกัน เปรียบเสมือนดังดาวดวงเดียวไม่ทำให้ท้องฟ้าสวยงามได้ ดอกไม้ดอกเดียวไม่สามารถทำให้แจกันสวยงามได้ เราจึงต้องรวมพลังกันเพื่อการเผยแผ่ให้เป็นประโยชน์ในยุคดิจิทัล ตามแนวปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา 3 ข้อ ดังนี้ คือ อัตถะ คือ มีประโยชน์ ตอบโจทย์ได้ หิตะ คือ เกื้อกูล สุขะ คือ อยู่ดี มีสุข ยั่งยืนมั่นคง ตามแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลและคณะสงฆ์สืบไป