posttoday

บาตรสังคโลก หนึ่งเดียวในประเทศไทย

20 พฤษภาคม 2561

ผมเห็นภาพพระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร รองเจ้าคณะภาค 14 ได้ไปเยี่ยมพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระสังฆราช

โดย...สมาน สุดโต

ผมเห็นภาพพระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร รองเจ้าคณะภาค 14 ได้ไปเยี่ยมพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 17 หรือพิพิธภัณฑ์วัดสุวรรณภูมิ จ.สุพรรณบุรี ทำให้นึกถึงข้อเขียน เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2555 เรื่อง บาตรสังคโลกหนึ่งเดียวในประเทศไทย  ผมจึงขอรื้อฟื้นเรื่องเดิมมาฉายซ้ำ เผื่อท่านผู้อ่านที่อาจพลาดไม่ได้อ่านเรื่องดังกล่าว 

บาตรสังคโลกยุคสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ 18-19 เป็นบาตรสังคโลกใบเดียวในประเทศไทย (หรืออาจในโลกก็ได้)  สมบัติวัดสุวรรณภูมิ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริมหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 17 วัดสุวรรณภูมิ

เจ้าของบาตร คือ หลวงพ่อเปลื้อง หรือพระเทพวุฒาจารย์ (เปลื้อง คงฺคสุวณฺโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสุวรรณภูมิ และอดีตเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี 

ประวัติการได้บาตรใบนี้น่าสนใจมาก เริ่มจากเสร็จสิ้นสงครามโลก ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2484-2485) มีสตรีผู้หนึ่งนำมาขายให้หลวงพ่อเปลื้อง (ท่านเป็นเจ้าอาวาส พ.ศ. 2481) ในราคา 20 บาท (ยี่สิบบาท) เมื่อหลวงพ่อเปลื้องรับไว้ ได้เพิ่มให้อีก 20 บาท พร้อมกับบอกหญิงคนนั้น (ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใครจนถึงบัดนี้) ว่าอยากได้คืนเมื่อไรก็มาไถ่เอาไป แต่ก็ไม่มีใครมาขอไถ่เอาไป

บาตรสังคโลก หนึ่งเดียวในประเทศไทย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2505 บาตรใบนี้ ต้องถูกพรากจากวัดสุวรรณภูมิไปอยู่ในมือของ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี และภริยา ซึ่งท่านทั้งสองนำขันสาครขนาดใหญ่ หล่อด้วยทองเหลือง จารึกนามท่านทั้งสองว่า ถวายวัดสุวรรณภูมิ พ.ศ. 2505 ให้นายทหารคนหนึ่งมาถวาย

พัฒน์ บุณยรัตพันธุ์  ซึ่งเป็น ผวจ.สุพรรณบุรี อยู่ในช่วงนั้น เล่าไว้ในหนังสือ 60 ปี บรรหาร ศิลปอาชา 2535 หน้า 44 ตอน คนดีศรีสุพรรณ ว่า ตัวท่านเป็นผู้ว่าฯ สุพรรณบุรี พ.ศ. 2500-2509 ปราบโจรผู้ร้ายหมด พัฒนาบ้านเมืองต่างๆ มากมาย แต่ก็ไม่ได้รู้จัก บรรหาร ศิลปอาชา มาก เพราะท่านผู้นี้มาทำมาหากินในกรุงเทพมหานคร (กทม.) แล้ว แต่ที่ไปเกี่ยวข้องกับบาตรสังคโลก ท่านบอกว่าประทับใจมาก

เรื่องเดิมมีว่าเมื่อ จ.สุพรรณบุรี (ก็คือผมนั่นแหละ อวดตัวเสียหน่อย) ร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรม สร้างศาลจังหวัดสุพรรณบุรีขึ้นใหม่ เป็นแห่งแรกที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมาวางศิลาฤกษ์ และ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี มาทำพิธีเปิดศาล ตอนกลางคืนมีละครของกรมศิลปากรฉลอง เป็นที่เลื่องลือมากจนผู้พิพากษาหัวหน้าศาลถูกย้าย เพราะร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัด ใกล้ชิดมากเกินไป กระทรวงยุติธรรมเกรงว่าจะเสียความยุติธรรมในการพิจารณาคดี (ซึ่งผมโกรธมาก) ถือว่าสบประมาทผม จนผมปฏิญาณว่าเรื่องของศาล ต่อไปจะไม่เกี่ยวข้อง ช่วยเหลือให้น้อยที่สุด ทั้งๆ ที่ผมกับหัวหน้าศาลจับมือสัญญาก่อนทำงานร่วมกันว่า 

บาตรสังคโลก หนึ่งเดียวในประเทศไทย

“กินกันได้ข้าวปลา นกกระทาไม่ให้” “คนรักกัน ไม่ขอของรักกัน” “ราชการอันเป็นที่รัก จะให้ใครมาขอให้เสียงาน เสียราชการไม่ได้”และผมไม่เคยขอร้องศาลเรื่องใดๆ เลยจนนิดเดียว ทั้งที่ชอบพอกับผู้พิพากษาทุกคน

ส่วนบาตรสังคโลกตกไปอยู่ในครอบครองของ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์นั้นท่านผู้ว่าพัฒน์เล่าว่า  ผมถือว่าเป็นความผิดของผมเอง ที่อยากจะอวดของดีเมืองสุพรรณ จึงไปขอยืมบาตรสังคโลกของหลวงพ่อเปลื้อง (พระราชสุพรรณาภรณ์) เจ้าอาวาสวัดสุวรรณภูมิ  ซึ่งเป็นของเก่าหาค่ามิได้เอามาตั้งเป็นบาตรน้ำมนต์ที่อาสน์สงฆ์ ในปะรำพิธีทางพระศาสนาเมื่อวันเปิดศาลซ้ำคุยอวด ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ถึงบาตรสังคโลกนี้ อันมีคุณค่าทางโบราณวัตถุมาก ต่อหน้าท่านผู้หญิงของท่านเสียอีกด้วย

หลังจากนั้นไม่ถึง 1 เดือน ก็มีท่านนายพลกองทัพบกคนหนึ่ง (ซึ่งเป็นชาวสุพรรณ) มาพบหลวงพ่อเปลื้อง หลวงพ่อให้คนมาเรียกตัวผมไปร่วมพบด้วย ท่านนายพลบอกว่า ท่านมีความสนใจบาตรสังคโลกของวัดสุวรรณภูมิมาก ต้องการนำไปให้เจ้านาย ท่านนายพล
ผู้เป็นทูตเตรียมขันลงหิน (ทองเหลือง) ทำแบบขันสาครใบใหญ่มาผาติกรรมด้วยแล้ว 1 ใบ

หลวงพ่อเปลื้องท่านพูดกับท่านนายพลนั้น ต่อหน้าผมว่า สิ่งของโบราณวัตถุที่วัดนี้ทั้งสิ้นที่ท่านสะสมไว้นั้น เมื่อท่านมรณะแล้วก็ยกให้เป็นของสงฆ์วัดสุวรรณภูมินี้ทั้งสิ้น เมื่อท่านนายพลต้องการ ท่านก็ไม่ขัดข้องอะไรส่วนผมผู้ว่าราชการจังหวัด ได้แต่ทำตาปริบๆ พูดไม่ออก

บาตรสังคโลก หนึ่งเดียวในประเทศไทย

ต่อมาเมื่อ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ธนะรัชต์ สิ้นบุญแล้ว เกิดวิกฤตการณ์ถูกริบทรัพย์ผมจึงร้องเรียนไปยังคณะกรรมการจัดการยึดทรัพย์ ขอคืนบาตรสังคโลกของวัดสุวรรณภูมิใบนี้ ซึ่งโดยสามัญสำนึก ไม่มีใครจะยอมรับแลกกับขันทองเหลืองใหม่ๆ เป็นแน่นอนคณะกรรมการฯ เรียกผมไปดูของ ผมเห็นบาตรสังคโลกนี้ ตั้งอยู่ในที่บูชาพระโต๊ะหมู่ภายในบ้านของ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ที่ถนนประดิพัทธ์ กรุงเทพฯ ผมก็ชี้ให้คณะกรรมการทุกท่านทราบว่า บาตรนี้เป็นของวัดสุวรรณภูมิ คณะกรรมการฯ ท่านให้ผมมาขอหนังสือยืนยันขอคืนจากท่านเจ้าอาวาสเจ้าของบาตร ถ้ามีหนังสือไปเขารับจะคืนให้ทันที

ผมก็กลับมาหาหลวงพ่อเปลื้อง ขอหนังสือท่าน ผมจะไปเอาบาตรมาคืนให้ หลวงพ่อพูดกับผมว่า “เราเป็นพระเป็นเจ้า พูดให้เขาไปแล้วจะไปกลับคำว่าไม่ได้ ให้ขอคืนมาได้อย่างไร”ผมขนลุก ก้มลงกราบท่าน เลื่อมใสในปฏิปทาของท่านจนสุดใจ เป็นอันตัดใจไม่คิดถึงบาตรใบนี้อีกต่อไป

ภายหลังทางการเอาบาตรใบนี้ออกขายทอดตลาด ผมไม่ทราบว่าใครบอกคุณบรรหาร ศิลปอาชา ท่านไปประมูลซื้อมา ในราคา 6 หมื่นบาท หรือ 8 หมื่นบาท ผมไม่แน่ใจแล้วนำบาตรใบนี้กลับมาถวายหลวงพ่อเปลื้องอีกที บาตรนี้จึงกลับคืนมาสู่วัดสุวรรณภูมิ (พ.ศ. 2512) เป็นสมบัติของชาวสุพรรณอีกวาระหนึ่ง ผมทราบข่าวแล้วโล่งใจ ดีใจ และรู้สึกเป็นบุญคุณ ที่คุณบรรหารช่วยปลดเปลื้องออกจากใจผมด้วย