posttoday

การบริหารเศรษฐกิจแบบเพี้ยนๆของรัฐบาลเศรษฐา

21 กุมภาพันธ์ 2567

ผ่านไปแล้ว 6 เดือน สำหรับการบริหารประเทศของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่มีนายกรัฐมนตรีพลเรือนชื่อเศรษฐา ทวีสิน 6 เดือนที่ยังไม่มีสิ่งดีใดๆเป็นรูปธรรมให้เห็นในเรื่องเศรษฐกิจ ตรงกันข้ามกลับได้ยินแต่คนในรัฐบาลพูดย้ำว่าประเทศยังตกอยู่ในภาวะวิกฤตอยู่ร่ำไป

คนไทยโดยทั่วไปทั้งที่สนใจและรู้เรื่องภาวะบ้านเมือง และทั้งที่ยังดิ้นรนในการหาเงินมาเลี้ยงตัวและครอบครัวไม่พอ แถมยังต้องทุรนทุรายกับหนี้ครัวเรือนที่สูงจะท่วมตัว ซึ่งถือว่าเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เขาเหล่านั้นต่างก็ไม่สามารถบอกตัวเองและสมาชิกในครอบครัวได้ว่า จะได้อะไรจากรัฐบาลมาทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาดีขึ้นมาได้มันช่างน่าหดหู่เป็นอันมาก

แต่เมื่อดูให้ชัดๆว่ารัฐบาลนี้เขากำลังทำอะไรให้กับประชาชนคนไทยกันบ้าง โดยเฉพาะในเรื่องการบริหารเศรษฐกิจ ก็จะพบว่ามีแต่เรื่องเพี้ยนๆให้ได้ยินอยู่หลายเรื่อง

เรื่องแรก คือเรื่องนโยบายการแจกเงินดิจิทัล 500,000 ล้านบาท ของรัฐบาลที่มีเพื่อไทยเป็นพรรคแกนนำเริ่มต้นวางแผนกันว่าจะแจกเงินดิจิทัลโดยใช้ระบบบล็อคเชน (Block chain) คือคิดสร้างเงินสกุลใหม่ขึ้นมา แต่ถูกธนาคารแห่งประเทศไทยบล็อคเสียก่อนว่ารับแบบนี้ไม่ได้และได้แนะว่าถ้าไม่แจกเงินธรรมดา ยังจะแจกเงินดิจิทัลอยู่ก็ให้ใช้ระบบเป๋าตังค์(Wallet) เหมือนรัฐบาลก่อนใช้ในการแจกเงินช่วยเหลือคนจน หรือที่แจกให้คนไปใช้เงินท่องเที่ยวโดยผ่านระบบเป๋าตังค์ของธนาคารกรุงไทย

เจอเข้าแบบนี้คนต้นคิดของรัฐบาลก็คอตกเหตุเพราะอะไรคงไม่ต้องพูด แต่ที่จะใช้ระบบเป๋าตังค์โดยรัฐบาลต้องกู้เงินมาหนุนถึง 500,000 ล้านบาท เกือบเท่างบขาดดุลงบประมาณ 693,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2567 ทำให้ธนาคารชาติหรือ ธปท. ต้องสะดุ้งและคิดทบทวนกันกว่าเจ็ดวันเจ็ดคืน ก็สรุปออกมาว่าไม่จำเป็น จะก่อผลเสียมากกว่าผลดีซึ่งมีนักวิชาการอีกมากก็ให้ความเห็นที่เป็นลบ แม้กระทั่ง ปปช. ก็อุตส่าห์ลงมาดูกับเขาด้วย แล้วก็ให้ความเห็นที่ทำให้รัฐบาลนี้ขยับไม่ออก คงทำได้อย่างเดียวแบบที่รัฐบาลไทยทุกรัฐบาลเขานิยมใช้กัน คือ ตั้งคณะอนุกรรมการชุดแล้วชุดเล่าไปดูไม่รู้จบ

แต่เรื่องนี้ไม่เหมือนเรื่องอื่นๆที่จะเก็บเข้าตู้เย็นง่ายๆนะครับ เพราะผู้คนทั้งที่มีความรู้และไม่รู้เรื่องต่างก็สนใจกันมาก คงจะจบเฉยๆโดยไม่ต้องเสียต้นทุนคงจะยากเสียแล้ว

เรื่องที่สอง คือเรื่องการกดดันให้ธปท. ลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งท่านนายกทั้งในสถานะรัฐมนตรีคลังด้วยได้ใช้ความพยายามอย่างมากผลักดันให้ท่านผู้ว่า ธปท. ลดดอกเบี้ย ซึ่งจริงๆการพิจารณาเรื่องดอกเบี้ยของ ธปท.ไม่ใช่ผู้ว่าการจะพิจารณาได้คนเดียว มันจะต้องผ่านคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีกรรมการ 7 ท่านและจะมีการพิจารณาตามระยะเวลาการประชุมที่ชัดเจนปีละ 6 ครั้ง นี่คือกฎเกณฑ์ที่นักธุรกิจ นักลงทุน และ
นักการเมืองทั้งในประเทศและนอกประเทศเขารู้กันทั่ว

แต่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ท่านนายกก็ออกมาให้ความเห็นอีกว่าลดสัก 0.25 % ได้ก็จะดีล่าสุดถึงกับเรียกร้องให้กำหนดวันประชุม กนง. เป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังมีท่านเลขาธิการสภาพัฒน์ได้ออกความเห็นเข้าข้างท่านนายก ว่า GDP ไทยไม่โตดังที่คิด ตรงกันข้ามกลับต่ำกว่าที่เคยตั้งเป้าหมายไว้อีก ท่านก็บอกว่า ถ้า ธปท. จะช่วยลดดอกเบี้ยลงก็คงจะช่วยเศรษฐกิจให้โตขึ้นได้

นี่ก็เป็นเรื่องเพี้ยนทางเศรษฐกิจที่ขำไม่ออกเสียจริงๆ ประเทศนี้ทั้งนักการเมืองและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไม่รู้เรื่องดอกเบี้ยแล้วยังกระเสือกกระสนมาให้ความเห็นต่อประชาชน ท่านไม่รู้เลยหรือว่าการกำหนดอัตราดอกเบี้ยทางการของประเทศที่มีระบบการเงินเกี่ยวพันกับนานาประเทศมากถึงขนาดเงินบาทนั้นเป็นที่ยอมรับกว้างขวางสามารถถือไปชำระค่าสินค้าได้ในหลายประเทศทั่วโลกนั้น ธนาคารกลางได้วางแนวปฏิบัติที่เป็นเรื่องเป็นราวไว้ดีเวลาจะขึ้นหรือจะลดดอกเบี้ยไม่มีประเทศไหนมาชี้แนะหรือก้าวก่ายได้แต่ธนาคารชาติเขาต้องดูเวลาที่เหมาะสม

การปรับดอกเบี้ยทางการของประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาจะปรับกันเป็นขาขึ้นและขาลงไม่ใช่ถูกกดดันแล้วจะปรับลดลงสัก 0.25 % เพื่อเอาใจนักการเมือง แล้วอีก 2 เดือนค่อยปรับขึ้นกันใหม่ เขาไม่ทำกันแบบนี้ครับ อย่าลืมนะครับว่าสิ่งเพี้ยนๆที่ผู้ใหญ่ของเราพูดกันนั้น มันออกเป็นข่าวให้นักลงทุนในต่างประเทศเขาได้ยินกันหมด แล้วผลกระทบในเชิงลบต่อตลาดหลักทรัพย์ของไทยก็เกิดขึ้น อย่าไปโทษแต่กลต. แต่ผู้เดียว

เรื่องที่สาม คือเรื่องรัฐบาลไม่สนใจการใช้จ่ายเงินงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คงจำกันได้ว่า ประเทศต้องสูญเสียเวลานานร่วมครึ่งปีในการสรรหาแล้วแต่งตั้งคณะรัฐบาลมาบริหารประเทศ จนเกิดภาวะสูญญากาศในการจัดทำงบประมาณประจำปี2566/67 หรืองบปี67 ดังนั้น แทนที่งบปี67 จะออกมาและมีผลในการบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2566 ตามปฏิทินงบประมาณ ปรากฎว่าถึงขณะนี้ผ่านมาจะครบ 5 เดือนแล้วงบประมาณซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารประเทศยังอยู่ในขั้นแปรญัตติในสภาผู้แทนราษฎรและในรัฐสภาควบคู่กันไป คาดว่าจะออกมาใช้ได้ไม่เร็วกว่าเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะทับซ้อนกับการเตรียมงบประมาณใหม่ปี2568

พูดให้คนของประเทศอื่นฟัง เขาคงต้องงงกับกระบวนการบริหารเศรษฐกิจแบบไทยๆเราแน่ ถ้ารู้ว่างบ 67 ปีนี้จะล่าช้าอย่างน้อย 8 เดือน หรือสองในสามของปีจากจำนวนงบประมาณ 3.48 ล้านล้านบาท ที่เป็นงบ ประจำเช่น เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าวัสดุก็ยังคงเบิกใช้ไปพลางก่อนได้แต่งบลงทุนจำนวนถึง 717,000 ล้านบาท ไม่สามารถเบิกใช้ได้เลย อย่างดีที่ได้ยินท่านรัฐมนตรีหลายท่านพูดถึงโครงการต่างๆมากมายในตอนนี้ แต่ก็เป็นเพียงลมปากเท่านั้น

ทำให้การคลังของประเทศทุกวันนี้มีเงินคงคลังสูงมากธนาคารก็มีสภาพคล่องล้นมาก และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศก็สูงมากติดอันดับ 14-15 ของโลก แต่ประชาชนยังยากจนเหมือนเดิม เศรษฐกิจก็ถูกนักการเมืองหาว่าวิกฤต ทั้งที่ GDP โตร่วม 2 % เพราะการท่องเที่ยวช่วยไว้ถือว่าเพี้ยนแล้วแต่ยังพออยู่ได้

แต่ในสภาพที่ประเทศมีเงินเหลือเฟือแบบนี้ยังมีข่าวเล็ดลอดมาให้ได้ยินว่ากระทรวงการคลังกำลังถูกสั่งให้หาโครงการเพื่อนำไปขอกู้เงินจากต่างประเทศมาใช้สักหนึ่งพันล้านเหรียญดอลลาร์นี่มันจะเพี้ยนไปถึงไหนกันครับ