posttoday

รู้ทันกฎหมายและภาษี...กับธุรกิจขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

29 มีนาคม 2566

ธุรกิจขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เจ้าของธุรกิจจะต้องจดทะเบียนพาณิชย์ และขออนุญาตที่กรมสรรพสามิตให้ถูกต้องก่อนเปิดจำหน่าย หากเจ้าของธุรกิจไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดก็จะถูกสั่งปิดเมื่อตรวจสอบพบว่าไม่ได้ขออนุญาต

     ธุรกิจขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ไม่ต่างกับธุรกิจขายสินค้าอุปโภคและบริโภคที่มีการวางจำหน่ายอยู่ทั่วไป หาซื้อได้ง่าย ทั้งร้านค้าปลีกและค้าส่ง ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ดังนั้นธุรกิจนี้จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายเข้ามากำหนดกฎเกณฑ์ให้อยู่ในกรอบตั้งแต่การเริ่มผลิต การเสียภาษี การขาย การขนส่ง การจัดทำบัญชี เป็นต้น เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมื่อบริโภคเข้าไปแล้วเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จึงต้องมีการควบคุมพิเศษ  

     ดังนั้น หากต้องการทำธุรกิจขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เจ้าของธุรกิจจะต้องจดทะเบียนพาณิชย์ และขออนุญาตที่กรมสรรพสามิตให้ถูกต้องก่อนเปิดจำหน่าย หากเจ้าของธุรกิจไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดก็จะถูกสั่งปิดเมื่อตรวจสอบพบว่าไม่ได้ขออนุญาต

     และหลังจากขออนุญาตแล้วควรศึกษาข้อมูลว่าต้องปฏิบัติอย่างไร ให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมด้วยเรื่องของภาษีที่ธุรกิจเครื่องดื่มต้องจ่าย
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

     ข้อกำหนดเกี่ยวกับพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้กำหนดการขายเครื่องดื่มในสถานที่หรือบริเวณที่กำหนดต่างๆ ซึ่งสถานที่ต้องห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามกฎหมาย เช่น วัด สถานบริการสาธารณสุข โรงเรียนและรอบสถานศึกษา สถานที่ราชการ หอพัก สถานศึกษา รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ (ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นร้านค้าหรือสโมสร) สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและร้านในสถานีเชื้อเพลิง สวนสาธารณะของรัฐ สถานีรถไฟ/ในขบวนรถไฟ สถานีขนส่ง (ข้อสำคัญ: หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)   

     นอกจากนี้ยังกำหนดห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันหรือเวลาที่กฎหมายกำหนดโดยห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา กำหนดห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาอื่น หรือนอกเวลาตั้งแต่ เวลา 11.00-14.00 น. และตั้งแต่เวลา 17.00-24.00 น. 

(ข้อสำคัญ : หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)

ในส่วนของบุคคลที่ห้ามขายเครื่องดื่มให้ คือ บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และบุคคลที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ และลักษณะที่ห้ามขาย เช่น ลดราคาเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขาย แจก แถม หรือแลกเปลี่ยนแอลกอฮอล์หรือกับสินค้าอื่น การให้บริการอย่างอื่น แจกจ่ายให้เป็นตัวอย่าง หรือเป็นการจูงใจให้บริโภค หรือกำหนดเงื่อนไขการขายที่เป็นการบังคับซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้หรือเสนอให้สิทธิในการเข้าชมการแข่งขัน การแสดง การให้บริการ การชิงโชค ชิงรางวัล หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดเป็นการตอบแทนแก่ผู้ซื้อ หรือผู้นำหีบห่อ สลาก สิ่งอื่นใดมาแลกเปลี่ยนหรือแลกซื้อ  
 

(ข้อสำคัญ : หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกกรณีคือ ห้ามใช้เครื่องขายแบบอัตโนมัติ ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)    

     ทั้งนี้ยังมีกฎหมายเกี่ยวกับการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีข้อกำหนดว่า ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แสดงชื่อ เครื่องหมายแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม 

(ข้อสำคัญ : หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 50,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน)

ภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีอะไรบ้าง

     ผู้ประกอบธุรกิจขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนการออกจำหน่ายนั้น ในเรื่องภาษีจะมีภาษีอะไรที่เข้ามาเกี่ยวข้องบ้างลองมาติดตามกัน 

ภาษีเงินได้ สามารถแยกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เจ้าของธุรกิจขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มาตรา 40(8) ซึ่งยื่นแบบชำระภาษีปีละ 2 ครั้ง คือ ภาษีครึ่งปี ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 เฉพาะรายได้ 6 เดือนแรก ยื่นแบบได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายนของปีนั้นๆ  และภาษีสิ้นปี ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90  โดยให้ยื่นแบบช่วงระหว่างเดือนมกราคม - มีนาคม ของทุกปี

ภาษีเงินได้นิติบุคคล 

     เจ้าของธุรกิจขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ต้องยื่นแบบชำระภาษีต่อกรมสรรพากรปีละ 2 ครั้ง คือ ภาษีเงินได้ครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ภายใน 2 เดือนนับตั้งแต่วันครบ 6 เดือนของรอบระยะเวลาบัญชี และภาษีเงินได้สิ้นรอบระยะเวลาบัญชี ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ภายใน 150 วัน นับตั้งแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี โดยนำภาษีที่จ่ายในครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี มาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้ตอนสิ้นรอบเวลาบัญชี

ภาษีมูลค่าเพิ่ม

     นอกจากเจ้าของธุรกิจที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะต้องจดทะเบียนพาณิชย์ และขออนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากกรมสรรพสามิตแล้ว เมื่อดำเนินธุรกิจจนมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องทำการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ด้วย

     โดยให้ยื่นจดไม่เกิน 30 วัน นับจากวันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท และเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อพร้อมกับออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อเมื่อส่งมอบสินค้าทุกครั้ง รวมถึงนำส่งให้กรมสรรพากรทุกเดือน นับตั้งแต่วันที่ยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นต้นไป ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้ ออกใบกำกับภาษีทุกครั้งเมื่อมีการขายสินค้า รวบรวมเอกสารใบกำกับภาษีฝั่งซื้อ เพื่อนำมาใช้เครดิตภาษีขาย หรือขอคืนภาษีซื้อ ทำรายงานสรุปรายการภาษีซื้อ ภาษีขาย สินค้าคงเหลือ และวัตถุดิบ  ส่งยื่นแบบ ภ.พ.30 แก่สรรพากรภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป แม้ว่าเดือนนั้นๆ จะมีหรือไม่มีการซื้อขายก็ตาม หากยื่นออนไลน์เพิ่มระยะเวลาในการยื่นอีก 8 วัน  

     กล่าวโดยสรุป การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถ้ารู้กฎหมายและภาษีแล้ว เจ้าของธุรกิจสามารถเปิดขายได้อย่างสบายใจชัวร์ ซึ่งในแง่กฎหมายนั้นมีรายละเอียดค่อนข้างมากอยู่พอสมควร โดยเฉพาะในส่วนของการโฆษณาจะมีบทลงโทษการปรับมีอัตราที่สูงถึง 500,000 บาท และในด้านภาษีมีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ควรทำความเข้าใจ

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ Inflow Account