posttoday

เคล็ดลับใช้ “สินทรัพย์กิจการ” ให้เกิดประโยชน์ทางภาษี

07 ธันวาคม 2565

การดำเนินกิจการของธุรกิจทุกประเภท จำเป็นต้องมีสินทรัพย์ เพื่อใช้ในการดำเนินกิจการให้ประสบความสำเร็จ ผู้ประกอบกิจการจำเป็นต้องวางแผนการนำสินทรัพย์ต่างๆ มาใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์เกิดความคุ้มค่ากับการทำงาน และประหยัดภาษี ให้มากที่สุด

          โดยพื้นฐานการดำเนินกิจการของธุรกิจทุกประเภท ย่อมจำเป็นต้องมีอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานที่กิจการซื้อเข้ามาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพนักงานในองค์กร และเพื่อให้กิจการขับเคลื่อนไปได้อย่างลื่นไหล ซึ่งสินทรัพย์เหล่านี้ คือ ทรัพยากรที่อยู่ในความควบคุมของกิจการ โดยเป็นทรัพยากรที่กิจการคาดว่าจะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจจากทรัพยากรนั้นในอนาคต จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ 


          ตัวอย่างเช่น ถ้ากิจการซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานเข้ามาใช้ในบริษัท เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก โทรศัพท์ เครื่องปรินเตอร์ โดยมีอายุการใช้งานนานเกิน 1 ปี สามารถใช้ประโยชน์ได้แน่นอน และยังใช้ไม่หมดในทันที ลักษณะนี้จะถือว่าของสิ่งนั้นเป็นสินทรัพย์ของกิจการ  

   
          รวมถึงลักษณะของสินทรัพย์แบบอื่นๆ ที่นับเป็นสินทรัพย์ของกิจการ เช่น สินทรัพย์ที่เป็นตัวเงินหรือเทียบเท่าเงิน เช่น เงินสด และตั๋วเงินรับต่างๆ สินทรัพย์ที่เป็นสิทธิเรียกร้อง เช่น ลูกหนี้ สินทรัพย์ที่มีตัวตน เช่น ที่ดิน อาคาร รถยนต์ สินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน เช่น สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ สัมปทาน และรายจ่ายที่จ่ายไปแล้วจะให้ประโยชน์ต่องวดบัญชีถัดไป ได้แก่ ค่าใช้จ่ายล่วงหน้าประเภทต่างๆ เช่น ค่าโฆษณาจ่ายล่วงหน้า 


          ทั้งหมดนี้ล้วนถือเป็นสินทรัพย์ของกิจการ สามารถนำมาตัดค่าใช้จ่าย หรือคิดเป็นค่าเสื่อมราคาได้ ซึ่งเคล็ดลับการนำสินทรัพย์ของกิจการมาใช้ประโยชน์ทางภาษีนั้น สามารถสรุปได้ดังนี้

สินทรัพย์ที่ใช้ในกิจการ ต้องซื้อในนามบริษัทเท่านั้น
          เคล็ดลับแรกของการนำสินทรัพย์มาใช้ประโยชน์ทางภาษีคือ เมื่อมีการซื้อสินทรัพย์เพื่อใช้ในกิจการ จะต้องซื้อในนามบริษัทเท่านั้น ห้ามซื้อในนามบุคคลเพราะจะไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ ไม่สามารถนำมาหักค่าใช้จ่าย และหักเป็นค่าเสื่อมราคาไม่ได้ ซึ่งเข้าข่ายเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม


          แต่ในกรณีที่นำสินทรัพย์ส่วนตัว เช่น รถยนต์ บ้านของตนเองมาใช้ในกิจการจริง เพื่อไม่ให้กลายเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม กิจการจะต้องทำการเช่าสินทรัพย์เหล่านี้ โดยค่าเช่าที่เหมาะสมในการนำมาเป็นค่าใช้จ่าย ต้องไม่สูงเกินความเป็นจริง และค่าเช่านี้ผู้ให้เช่าจะต้องนำมารวมเป็นรายได้และยื่นภาษีบุคคลธรรมดาด้วย  

สินทรัพย์ที่ใช้ในกิจการ โดยได้มาจากการเช่าซื้อ
          เมื่อพูดถึงการเช่าสินทรัพย์เพื่อใช้ในกิจการ ไม่ถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม ดังนั้น ในกรณีที่สินทรัพย์อยู่ในลักษณะเช่า เช่น เครื่องจักร รถยนต์ อาคาร จะมีอยู่ 2 แบบ คือ 1) เช่าซื้อ 2) ลิสซิ่ง ซึ่งกิจการต้องคิดให้ถี่ถ้วนว่าจะเลือกใช้เป็นสินทรัพย์แบบลิสซิ่งหรือเช่าซื้อ เพราะทั้ง 2 แบบสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ต่างกันคือ

          1.เช่าซื้อ คือสินทรัพย์ที่ได้มาโดยการทำสัญญาเช่าซื้อ โดยเมื่อครบกำหนดตามสัญญา กรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์จะตกเป็นของกิจการทันที สินทรัพย์ลักษณะนี้แม้กิจการจะยังไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่ถือเป็นสินทรัพย์ของกิจการตั้งแต่เริ่ม สามารถบันทึกเป็นค่าเสื่อมราคาต่อปีรวมดอกเบี้ยได้ โดยเมื่อคำนวณแล้วจะต้องไม่เกินราคาที่ต้องผ่อนชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น


          โดยเหมาะสำหรับธุรกิจ SMEs รายเล็กที่ยังไม่ค่อยมีภาระหนี้และภาระภาษี เพราะสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้น้อยกว่าแบบลิสซิ่ง 

          2.ลิสซิ่ง คือ สัญญาเช่า เมื่อหมดสัญญาสามารถเลือกได้ว่าจะเป็นเจ้าของ เช่าต่อ หรือคืนสินทรัพย์ให้กับเจ้าของ จึงไม่ถือเป็นสินทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ธุรกิจแต่เป็นลักษณะการเช่ามาใช้งาน ซึ่งสามารถบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายได้ในลักษณะของค่าเช่ารายเดือนตามที่จ่ายจริง 


          โดยจะเหมาะกับธุรกิจที่มีกำไรสูงและต้องการลดกำไรเพื่อให้เสียภาษีน้อยลงจำนวนมาก เพราะค่าเช่ารายเดือนถือเป็นค่าใช้จ่ายที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 100% และนำไปลดหย่อนภาษีได้มากกว่าแบบเช่าซื้อ 

ธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) หักค่าเสื่อมราคาสินทรัพย์ได้มากขึ้น
          เนื่องจากสินทรัพย์ที่มีอายุการให้ประโยชน์ในกิจการยาวนานมากกว่า 1 ปี จะเกี่ยวข้องกับค่าเสื่อมราคาอยู่แล้ว  ด้วยเหตุนี้หากเป็นธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) กฎหมายได้กำหนดให้สามารถนำมาหักเป็นค่าเสื่อมราคาได้ในอัตราพิเศษ 


          ดังนั้น เมื่อกิจการขนาดเล็กมีการซื้อทรัพย์สิน สามารถหักค่าเสื่อมราคาในอัตราพิเศษ โดยต้องเป็นสินทรัพย์ที่ซื้อมาหลังวันที่ 31 มกราคม 2545 เป็นต้นไป โดยมีเงื่อนไขดังนี้
          1.เป็นนิติบุคคลไทย ที่มีสินทรัพย์ถาวร (อาคาร และอุปกรณ์) ไม่รวมที่ดิน ไม่เกิน 200 ล้านบาท
          2.มีการจ้างแรงงาน ไม่เกิน 200 คน


          อย่างเช่นคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ สามารถนำมาหักเป็นค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้  40% ของมูลค่าทรัพย์สินส่วนที่เหลือ ณ วันที่ได้สินทรัพย์มา ทยอยหักภายใน 3 รอบระยะเวลาบัญชี (33.33% ต่อปี)


          หรือถ้าเป็นโรงงาน ระยะเวลาการใช้งานไม่เกิน 20 ปี สามารถหักค่าเสื่อมได้ 25% ในวันที่ได้มา และส่วนที่เหลือหักไม่น้อยกว่า 20 รอบบัญชี (5% ต่อปี) และถ้าเป็นเครื่องจักร ระยะเวลาการใช้งานไม่เกิน 5 ปี สามารถหักเป็นค่าเสื่อมราคาได้  40% ณ วันที่ได้สินทรัพย์มา และส่วนที่เหลือภายใน 5 รอบบัญชี (20% ต่อปี)

อย่าลืม! ขอหลักฐานเอกสารเมื่อซื้อสินทรัพย์ใช้ในกิจการ
          เมื่อกิจการซื้อสินทรัพย์ที่มีคุณสมบัติดังที่กล่าวมาแล้วก่อนหน้านี้ เพื่อนำมาใช้ในสำนักงาน ต้องซื้อและออกเอกสารในนามบริษัทเท่านั้น โดยต้องออกเอกสารเป็นใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี หรือบิลเงินสดที่มีชื่อ ที่อยู่ของผู้ขาย และต้องระบุชื่อผู้ซื้อในนามบริษัทเท่านั้น ข้อมูลในเอกสารต้องถูกต้องและครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด จึงจะสามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานค่าใช้จ่ายของกิจการ นำไปหักค่าใช้จ่ายตอนยื่นภาษีได้  
          ทั้งนี้ เจ้าของกิจการต้องเก็บเอกสารการซื้อขายสินทรัพย์นั้นๆ ให้ครบทั้งหมด เนื่องจากหากสรรพากรเรียกตรวจสอบขอเอกสารเพิ่มเติมย้อนหลัง กิจการก็จะสามารถส่งหลักฐานและเอกสารได้ครบตามที่แจ้งกับสรรพากร ป้องกันการถูกปรับหรือเสียภาษีเพิ่มได้

ควรวางแผนสินทรัพย์ที่ใช้ในกิจการให้ดี เพื่อช่วยลดภาระทางภาษี
          เมื่อกิจการมีความจำเป็นต้องมีสินทรัพย์ เพื่อใช้ในการดำเนินกิจการให้ประสบความสำเร็จ ผู้ประกอบกิจการจึงจำเป็นต้องวางแผนการนำสินทรัพย์ต่างๆ มาใช้ ว่าควรนำสินทรัพย์แบบไหนมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งกับการทำงานและภาษีอย่างไร เพื่อช่วยทำให้สินทรัพย์ที่ซื้อมานั้นเกิดความคุ้มค่า และประหยัดภาษีได้มากที่สุด  


Source: by Inflow Accounting