posttoday

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่หนึ่ง)

01 มีนาคม 2564

โดย ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร          

************************

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีระบอบการปกครองไม่ต่างจากของไทย นั่นคือ ปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่พระมหากษัตริย์หรือจักรพรรดิของญี่ปุ่นไม่ได้มีพระราชอำนาจมาตั้งแต่ พ.ศ.2146 (ตรงกับสมัยสมเด็จพระนเรศวร) เพราะอำนาจทางการเมืองการปกครองตกอยู่กับตำแหน่งสูงสุดทางทหารหรือที่เราคุ้นเคยกันกับคำว่า “โชกุน” โดย โทะกุงะวะ อิเอะยะซุ และตระกูลโทะกุงะวะก็ครองอำนาจอยู่นานถึง 250 ปี กว่าจะมีการดึงอำนาจกลับมาที่จักรพรรดิอีกครั้งหนึ่งในสมัยที่เรียกว่ายุคเมจิ อันเป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นเข้าสู่การปฏิรูปครั้งใหญ่ โดยปัจจัยที่ทำให้ต้องมีการปฏิรูปประเทศอย่างใหญ่หลวงก็คือ สหรัฐอเมริกาได้เข้ามาติดต่อกับญี่ปุ่นพร้อมกับนำเรือรบเข้ามาสี่ลำในปี พ.ศ. 2396 (ต้นรัชกาลที่สี่)หลังจากที่ญี่ปุ่นขับไล่ฝรั่งออกไปและปิดประเทศเป็นเวลาถึง 260 ปี ญี่ปุ่นขับไล่ฝรั่งออกไปก่อนหน้าที่พระเพทราชาจะขับไล่ฝรั่งออกไปจากอยุธยาเพียงไม่กี่ปี

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่หนึ่ง)

ประสบการณ์ของญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ พ.ศ. 2400 ไม่ต่างจากไทยในช่วงระหว่างรัชกาลที่สี่และที่ห้าตรงที่ต้องเผชิญกับภัยจากการล่าอาณานิคมและการถูกบังคับให้ทำสนธิสัญญาการค้า ส่งผลให้ญี่ปุ่นจำต้องทำสนธิสัญญาการค้าที่เสียเปรียบและเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต  ผู้นำญี่ปุ่นยอมรับสภาพความเป็นจริงของการเมืองโลกว่ามีสภาพเหมือน “ผู้ที่แข็งแรงกินเนื้อของผู้ที่อ่อนแอ” ทำให้ผู้นำในยุคเมจิต้องเร่งปฏิรูปประเทศทุกด้านเพื่อให้มีความทันสมัยโดยเลียนแบบประเทศตะวันตกทั้งด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจสังคมและการศึกษาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประเทศ

กลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญในการล้มล้างอำนาจของโชกุนและปฏิรูปประเทศคือ ผู้นำที่มาจากครอบครัวซามูไรชั้นกลางและชั้นต่ำที่ต้องการ “สร้างชาติที่เข้มแข็งและร่ำรวย” ตามแบบตะวันตก คนกลุ่มนี้มีความรู้สึกแปลกแยกและไม่พอใจกับการเมืองในสมัยโทะกุงะวะ พวกเขาจึงศึกษาและรับรูปแบบการเมือง เศรษฐกิจและสังคมจากประเทศตะวันตก จนนำไปสู่นโยบายการสร้างชาติ โดยในปี พ.ศ.2411 จักรพรรดิเมจิได้ประกาศคำปฏิญญาปฏิรูปการปกครองให้ทันสมัยตามแบบตะวันตก โดยคำปฏิญญานี้มีสาระสำคัญห้าประการคือ หนึ่ง จะมีการตั้งรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน สอง ประชาชนทุกชั้นจะร่วมมือกันปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล สาม จะให้สิทธิเสรีภาพแก่คนทุกชนชั้นและ ห้า ยกเลิกวัฒนธรรมที่ล้าสมัย

การเร่งพัฒนาประเทศของญี่ปุ่นส่งผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมโดยสามารถรบชนะจีนอย่างง่ายดายในสงครามครั้งแรก (พ.ศ. 2437-2438 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ห้า)อันเป็นก้าวแรกที่ทำให้ญี่ปุ่นขึ้นสู่สถานะประเทศมหาอำนาจได้ในที่สุด

จักรพรรดิญี่ปุ่นเองมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ทรงเป็นผู้นำในการับอารยธรรมตะวันตก ทรงเรียนรู้เกี่ยวกับตะวันตกจากผู้นำของประเทศตะวันตก อย่างเช่นใน พ.ศ.2422  อดีตประธานาธิบดีสองสมัยของสหรัฐอเมริกา ยูลิซิส แกรนด์ (Ulysses S Grant) ได้เดินทางรอบโลกและมาญี่ปุ่น เขาได้รับการต้อนรับในฐานะแขกของประเทศ ถือเป็นประธานาธิบดีอเมริกันคนแรกที่เดินทางไปญี่ปุ่น และในการนั้นสมเด็จพระจักรพรรดิมุตสึฮิโตะได้ถือโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับตะวันตก โดยนายแกรนด์ได้แนะนำการปกครองที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและการร่างกฎหมาย แต่ที่สำคัญคือ กระบวนการการมีส่วนร่วมนี้จะต้องดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อประชาชนมีการศึกษาสูง ประชาชนจะมีสิทธิออกเสียงและเข้าร่วมในการร่างกฎหมาย นอกจากนี้ จักรพรรดิยังทรงเป็นผู้นำในการรับอารยธรรมตะวันตก ทรงแต่งกาย สวมหมวก ดื่มนมและเสวยเนื้อแบบตะวันตก                 

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่หนึ่ง)

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่หนึ่ง)

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ผู้นำทางการเมืองในยุคเมจิมาจากครอบครัวซามูไรระดับกลางและล่าง และปัญญาชนญี่ปุ่นเองก็มาจากครอบครัวซามูไร และคนจากครอบครัวซามูไรเหล่านี้ได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาต่อในโลกตะวันตกจากนโยบายพัฒนาการศึกษาของรัฐบาล

เมื่อเปรียบเทียบกับการส่งคนไปศึกษาต่อต่างประเทศของไทย จะพบว่า ในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกันนี้ ในปี พ.ศ.2400 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงสนับสนุนให้มีการศึกษาต่อต่างประเทศ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะนักเรียนไทยออกไปศึกษา ณ ต่างประเทศคณะแรก  ซึ่งเดินทางไปพร้อมคณะทูตไทยไปอังกฤษ คือ นายทด บุนนาค บุตรพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) และนายเทศ บุนนาค (เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ) บุตรสมเด็จพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ทั้งสองได้รับการฝากฝังให้กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษจัดให้ศึกษาในโรงเรียนราชวิทยาลัยที่กรุงลอนดอน แต่ปรากฏว่าเมื่อคณะทูตเดินทางกลับ นักเรียนทั้งสองก็กลับโดยไม่ทราบเหตุผล     

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่หนึ่ง)

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่หนึ่ง)

ส่วนนักเรียนทุนส่วนตัวที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศและกลับมารับราชการในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ พระยาอัครราชวราทร (หวาด บุนนาค) เดินทางไปกับนายเรือรบอเมริกันเพื่อศึกษาวิชาทหารเรือ กลับมารับราชการเป็นหลวงวิเศษพจนการ กรมท่า พระยาอรรคราชวราทร (เนตร) ศึกษาที่ประเทศสิงคโปร์ กลับมารับราชการเป็น ขุนศรีสยามกิจ ผู้ช่วยกงสุลสยามที่เมืองสิงคโปร์ แล้วเลื่อนเป็นหลวงศรีสยามกิจ ตำแหน่งไวส์กงสุลสยามที่เมืองสิงคโปร์ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ศึกษาที่ประเทศอังกฤษ กลับมาราชการในตำแหน่ง นายราชาณัตยนุหารหุ้มแพรวิเศษในกรมอาลักษณ์พนักงานเชิญรับสั่งไปต่างประเทศ และทำหน้าที่ราชเลขานุการภาษาอังกฤษตลอดรัชกาล

นอกจากนี้ยังมีนักเรียนที่ออกไปศึกษาที่ยุโรปและกลับเข้ารับราชการในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) บุตรเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ได้เล่าเรียนวิชาทหารปืนใหญ่จากอังกฤษ นับเป็นคนแรกที่สำเร็จวิชาทหารจากยุโรป   เจ้าพระยาราชานุประพันธ์ (สุดใจ บุนนาค) บุตรเจ้าพระยาภาณุวงษ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ศึกษาที่ประเทศอังกฤษ  หลวงดำรงสุรินทร์ทรฤทธิ์ (บิ๋น บุนนาค) บุตรเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศส

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้มีการศึกษาดูงานต่างประเทศทรงโปรดเกล้าฯ ให้ส่งเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์และพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร ไปดูงานการปกครองและบำรุงบ้านเมืองของอังกฤษที่สิงคโปร์ เมื่อ พ.ศ.2404 นอกจากนั้นยังส่งข้าราชการออกไปศึกษาวิชาเฉพาะอย่างที่พระองค์ต้องการอีกด้วย เช่น ส่งขุนมหาสิทธิโวหาร ออกไปดูงานการพิมพ์ และหมื่นจักรวิจิต ไปฝึกหัดการซ่อมนาฬิกา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสามัญชนที่ได้เล่าเรียนภาษาและมีโอกาสติดตามมิชชันนารีไปศึกษาวิชาแพทย์ที่อเมริกา ได้ประกาศนียบัตรเป็นแพทย์กลับมาเมืองไทย และได้เข้ามารับราชการในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในตำแหน่งพระยาสารสินสวามิภักดิ์ (เทียนฮี้)

ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือ ไทยเราส่งคนที่เป็นขุนนางในตระกูลบุนนาคเสียส่วนใหญ่ โดยตระกูลบุนนาคเป็นกลุ่มขุนนางชั้นสูงที่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่งในขณะนั้น และตระกูลบุนนาคยังมีกำลังที่ส่งคนในคระกูลของตนไปศึกษาต่อด้วยกำลังทรัพย์ของตัวเองด้วย  แต่รัฐบาลญี่ปุ่นที่นำโดยกลุ่มซามูไรชั้นกลางและระดับล่างได้ส่งคนในชั้นของตนไปศึกษาต่อเป็นจำนวนมาก อย่างเช่น นิฌิ อะมะเนะ (Nishi Amane) มาจากครอบครัวซามูไร โดยในปี พ.ศ.2405 รัฐบาลได้ส่งเขาให้ศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเลย์เดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ (ในช่วงที่ญี่ปุ่นปิดประเทศไม่คบค้ากับชาติตะวันตกอื่นๆ แต่ยังคบค้ากับเนเธอร์แลนด์มาโดยตลอด เพราะเนเธอร์แลนด์ไม่มีนโยบายต่างประเทศอื่นใดนอกจากการค้าขาย) และรัฐบาลญี่ปุ่นก็กำหนดชัดเจนว่า  อะมะเนะต้องศึกษาองค์ความรู้รัฐศาสตร์ กฎหมายรัฐธรรมนูญและเศรษฐศาสตร์ของตะวันตก ด้วยรัฐบาลญี่ปุ่นในยุคเมจิมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะให้ญี่ปุ่นพัฒนาการปกครองตามรูปแบบของตะวันตกโดยยังคงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์หรือสถาบันจักรพรรดิที่เพิ่งรื้อฟื้นพระราชอำนาจกลับคืนมาหลังจากที่ตกอยู่ในมือของโชกุนเป็นเวลา 250 ปี               

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่หนึ่ง)

แน่นอนว่า ญี่ปุ่นและไทยส่งคนไปศึกษาต่อด้านการทหาร วิทยาศาสตร์และด้านกฎหมาย แต่นึกไม่ออกว่า ในสมัยรัชกาลที่สี่และห้า ไทยส่งใครไปศึกษาทางด้านรัฐศาสตร์ตะวันตกโดยเฉพาะ และมีการวางแผนให้กลับมาพัฒนารูปแบบการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญให้เกิดขึ้นในไทย แต่ตามหลักฐานประวัติศาสตร์ อย่างเช่น เอกสารกราบบังคมทูลการปฏิรูประบบราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2428 และพระราชดำรัสตอบของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้สะท้อนว่า ผู้กราบบังคมทูลทั้ง 11 คนและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงมีความรู้ความเข้าใจในศัพท์รัฐศาสตร์ที่มีการเรียกทับศัพท์ว่า “แอบโซลูด โมนากี” (สมบูรณาญาสิทธิราชย์) “คอนสติติวชั่น” (รัฐธรรมนูญ)  “ลิยิสเลตีฟ” (ฝ่ายนิติบัญญัติ) และ “เอกเสกคิวตีฟ” (ฝ่ายบริหาร)  แต่ก็ไม่มีใครในสิบเอ็ดคนนี้และรวมทั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงได้รับการศึกษาทางรัฐศาสตร์จริงๆจังๆอย่างนิฌิ อะมะเนะ ที่หลังจากที่เขาจบมา ได้กลายเป็นปัญญาชนคนสำคัญในการวางรากฐานความรู้ทางสังคมศาสตร์ในญี่ปุ่น

และเมื่อเทียบการถ่ายทอดความรู้ด้านทฤษฎีการเมืองตะวันตกของญี่ปุ่นกับไทย จะพบตัวอย่างหนึ่งที่ปัญญาชนญี่ปุ่นได้แปลหนังสือ “สัญญาประชาคม” ของรุสโซ นักคิดชาวฝรั่งเศสเป็นภาษาญี่ปุ่นครั้งแรกในปี พ.ศ.2425 โดย นะคะอิ โทะคุซุเคะ (Nakae Tokusuke มีชีวิตระหว่าง พ.ศ. 2390-2444) และเขาได้รับการขนานนามจากคนญี่ปุ่นในยุคนั้นว่าเป็น “รุสโซแห่งตะวันออก”

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่หนึ่ง)

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่หนึ่ง)

ส่วนของไทยเรานั้น มีหลักฐานว่า เริ่มมีการแปลสัญญาประชาคมเป็นตอนๆลงหนังสือพิมพ์ในช่วงหลัง พ.ศ.2475  แต่ที่เป็นหนังสือแปลฉบับสมบูรณ์โดยคุณ จินดา จินตนเสรี (ผู้สนับสนุนคณะราษฎร) ได้รับการตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2517 ห่างจากของญี่ปุ่นเกือบหนึ่งร้อยปี ทั้งๆที่เริ่มส่งคนไปศึกษาต่อต่างประเทศในเวลาไล่เลี่ยกัน

ท่ามกลางปัจจัยต่างๆมากมาย  เป็นไปได้หรือไม่ว่า ความล้าหลังในทางสังคมศาสตร์และรัฐศาสตร์ของไทยเป็นปัจจัยหนึ่งหรือไม่ที่ทำให้การเมืองการปกครองของไทยล้าหลังกว่าญี่ปุ่น ?

แต่ขอกระซิบดังๆว่า  หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐฯมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานและแบบแผนทางการเมืองการปกครองให้ญี่ปุ่น รวมทั้งการจะรักษาหรือไม่รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ และที่สำคัญคือ สหรัฐฯเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญให้ญี่ปุ่นใช้ และคนญี่ปุ่นก็ใช้รัฐธรรมนูญที่พวกตนไม่ได้ร่างเองมาจนทุกวันนี้ !!                   

(ผู้เขียนใช้หนังสือสามเล่มในการเขียนบทความนี้ หนึ่ง นโยบายต่างประเทศญี่ปุ่น: ความเปลี่ยนแปลงและความต่อเนื่อง ของ ศ.กิตติคุณ ดร. ไชยวัฒน์ค้ำชู [ผู้สอนวิชาการเมืองญี่ปุ่นให้ผู้เขียน)  สองประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ของ รศ.ดร.สุรางค์ศรี ตันเสียงสม และ Postmodern in Japan ของผู้เขียนเอง)