posttoday

ต่ออายุ S-curve ด้วย "กลยุทธ์ทางการเงิน" เพื่อธุรกิจที่ยั่งยืน

29 กันยายน 2563

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...รองศาสตราจารย์ ดร.สรศาสตร์ สุขเจริญสิน คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) www.econ.nida.ac.th

เป็นธรรมดาเมื่อเศรษฐกิจของประเทศหรือวงจรชีวิตของอุตสาหกรรมใดได้ดำเนินมาจนถึงจุดอิ่มตัว (Maturity stage) หรือเป็นภาวะที่จะเติบโตต่อไปได้ด้วยอัตราการเติบโตที่ไม่สูงนัก ก็มักจะติด “กับดักแห่งการเปลี่ยนผ่าน” หรือ “Transition trap” ในด้านเศรษฐกิจมหภาค An East Asian Renaissance (2007) โดย World Bank ได้กล่าวว่า การพัฒนาที่ก้าวข้ามจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ใช่กระบวนการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เป็นการวางแผนและการจัดการที่ต้องทุ่มเททรัพยากรลงไปเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ตั้งเป้าหมายไว้ การพัฒนาทางเศรษฐกิจของบางประเทศที่ติดอยู่ใน “กับดักรายได้ปานกลาง” เพราะไม่สามารถรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เคยอยู่ในอัตราที่สูงในอดีตให้สามารถดำรงอยู่ต่อไปในอนาคต

ในด้านธุรกิจ การพัฒนาที่ก้าวข้ามจากวัฏจักรอุตสาหกรรมในช่วงอิ่มตัวที่มีอัตราการเติบโตช้าแต่มีกระแสเงินสดมาก ให้ก้าวข้ามไปยังวัฏจักรทางธุรกิจใหม่ หรือที่รู้จักกันดีว่าการเข้าสู่ S-curve ใหม่นั้น ก็เป็นเรื่องยากเช่นกัน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนและมีผลกระทบสูงในการเปลี่ยนผ่านไปยังการเติบโตครั้งใหม่ หากธุรกิจใดลงมือสร้าง S-curve ตัวใหม่ได้เร็ว ก็ย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผลจากการสร้าง S-curve ตัวใหม่ยังไม่ปรากฏชัด ผู้บริหารจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกลยุทธ์ในการเปลี่ยนผ่าน (Transition strategy) ที่ดีในการสร้างมูลค่าเพิ่มระหว่างที่ S-curve ตัวใหม่ยังไม่ผลิดอกออกผล

ในช่วงนี้เอง "กลยุทธ์ทางการเงิน" จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่บริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ นำมาใช้เพื่อสร้างมูลค่าให้แก่กิจการ "กลยุทธ์ทางการเงิน" เป็นความพยายามในการใช้หลักคิด ทฤษฎี และการจัดการทางการเงินในการช่วยผู้บริหารระดับสูงในการจัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อช่วยให้กิจการบรรลุแผนหรือเป้าประสงค์ในการสร้างการเติบโตและเจริญเติบโตในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน "กลยุทธ์ทางการเงิน" ยังรวมถึงการใช้หรือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันเหนือคู่แข่งอีกด้วย ซึ่งจะครอบคลุมกิจกรรมต่าง ๆ ไม่จำกัดเพียงแค่การจัดการทางการเงินของกิจการตามหน้าที่อันพึงปฏิบัติเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการนำเอาหลักคิดหรือวิธีการที่เกี่ยวข้องกับการเงินไปช่วยในการจัดการ “ทรัพยากร” ผ่านกิจกรรมที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เพื่อให้กิจการบรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาวอีกด้วย

ตัวอย่างของธุรกิจที่อยู่ในวัฏจักรที่อิ่มตัวนี้ ได้แก่ อุตสาหกรรมธนาคาร ที่เห็นได้ชัดจากการถูก Disrupt จากกระแส Digital และความต้องการสินเชื่อที่ลดลง ยิ่งเจอกับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้สถานการณ์ทางการเงินของลูกค้าของธนาคารอาจเข้าขั้นร่อแร่ อาจผิดนัดชำระหนี้ได้ ในช่วงนี้จึงเห็นว่า อุตสาหกรรมธนาคารในประเทศไทยได้ใช้กลยุทธ์ทางการเงินในการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

ในกรณีธนาคารกสิกรไทย ได้ดำเนินกลยุทธ์ซื้อหุ้นคืน (Share repurchase) เพื่อบริหารสภาพคล่องทางการเงินของธนาคารที่มีมากให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับธนาคารและผู้ถือหุ้น โดยซื้อหุ้นของธนาคารคืนในกระดานหลักของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในวงเงินไม่เกิน 4,600 ล้านบาท ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งเป็นกลยุทธ์ทางการเงินที่เฉียบคมมาก เพราะช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้ เป็นช่วงที่ตลาดหุ้นตกต่ำมากเมื่อเทียบกับปลายปี 2562 หากภาวะตลาดดีขึ้น ธนาคารก็สามารถทำกำไรจากส่วนต่างราคาได้ แต่หากภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวย ธนาคารไม่สามารถจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืนจำนวน 23,932,600 หุ้นได้ในราคาที่สูงขึ้นเพื่อทำกำไรตามเป้าหมายที่ต้องการแล้ว ธนาคารก็ยังสามารถลดทุนได้ตามที่กฎหมายกำหนด โดยการตัดหุ้นที่ซื้อคืนและจำหน่ายไม่ได้ดังกล่าวออกได้ ซึ่งผลจากการลดหุ้นนี้เอง ก็จะทำให้กำไรต่อหุ้นของธนาคารสูงขึ้น ราคาหุ้นที่อ้างอิงจากกำไรต่อหุ้นก็จะดูดี ผู้ถือหุ้นก็จะได้รับประโยชน์จากกลยุทธ์ซื้อหุ้นคืนนี้ ซึ่งก็จะทำให้ราคาหุ้นอาจเพิ่มสูงขึ้นในสถานการณ์ปกติหรือประคองไม่ให้ราคาหุ้นต่ำลงในช่วงตลาดขาลงได้ ซึ่งเป็นการใช้กลยุทธ์ซื้อหุ้นคืนที่ถูกจังหวะมากในช่วงที่ผ่านมา

ในกรณีของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่ได้ใช้กลยุทธ์ “ซื้อกิจการ” หรือ Takeover โดยการประกาศซื้อกิจการธนาคารเพอร์มาตาในอินโดนีเซีย ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของอินโดนีเซียซึ่งมีเครือข่ายขนาดใหญ่ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย ฐานเงินฝากที่แข็งแกร่งและมีเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย ก็นับว่าเป็นกลยุทธ์ในการ “เสกกำไร” ได้อย่างรวดเร็วในสถานการณ์คับขัน เพราะเมื่อธุรกรรมแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มกำไรต่อหุ้นและอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้นของธนาคารได้ทันที นอกจากนี้ ยังต่อ S-curve ให้กับธนาคารในระดับภูมิภาคอีกด้วย เพราะเศรษฐกิจของประเทศอินโดนีเซียยังสามารถเติบโตได้อีกนับสิบปี ทำให้ความต้องการสินเชื่ออยู่ในระดับสูงซึ่งจะสามารถสร้างการเติบโตได้อีกในระยะต่อไป

ยิ่งไปกว่านั้น ธนาคารยังได้ออกตราสารทางการเงินใหม่ที่เรียกว่า “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” เพื่อเสริมเงินทุน ซึ่งตราสารประเภทนี้เป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนเป็นเงินจำนวน 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ ที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาชำระคืน แต่ธนาคารมีสิทธิไถ่ถอนตราสารหลังจาก 5 ปี ได้ ซึ่งธนาคารได้เสนออัตราผลตอบแทนเริ่มต้น ร้อยละ 5 ต่อปี ชำระผลตอบแทนปีละ 2 ครั้ง จนถึงวันที่ผู้ออกตราสารสามารถใช้สิทธิไถ่ถอนตราสารก่อนกำหนดครั้งแรก จากนั้นอัตราผลตอบแทนจะถูกปรับตามอัตราอ้างอิงทุก ๆ 5 ปี ตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ ก็นับเป็นกลยุทธ์ในการระดมทุนเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการเตรียมรับมือกับปัญหา NPLs ที่อาจจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต และมีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนสถานการณ์เพราะธนาคารมีสิทธิเต็มที่ในการไถ่ถอนตราสารเมื่อใดก็ได้หลังจาก 5 ปีแล้ว ซึ่งธนาคารก็น่าจะผ่านพ้นวิกฤติ NPLs ไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อมีความพร้อมทางการเงินก็ค่อยไถ่ถอนหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์คืนก็ได้ โดยไม่ต้องเพิ่มทุนให้กระทบกับผู้ถือหุ้นและราคาหุ้นเลย การเลือกใช้เครื่องมือทางการเงินนี้ จึงเป็นกลยุทธ์ทางการเงินที่จะระดมทุนมาเสริมความแข็งแกร่งได้อย่างคล่องตัว หลังจากการเพิ่มส่วนของทุนทำได้ยากกว่าเพราะภาวะตลาดหุ้นไม่เอื้ออำนวย นอกจากนี้ ยังสามารถใช้นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 เสริมความมั่นคงทางการเงินให้กับธนาคารอีกด้วย นับว่าเป็นการยิงนกทีเดียวเข้าเป้าหลายตัวเลยทีเดียว

กลยุทธ์ทางการเงินจึงมีความสำคัญในการสร้างโอกาสและมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งแน่นอนและไม่แน่นอน อันจะส่งผลให้ธุรกิจมีความยั่งยืนต่อไป