posttoday

เมสซี่กับบาร์เซโลน่า กรณีศึกษาของการบริหาร Talent

15 กันยายน 2563

คอลัมน์บริหารคนบนความต่าง

โดย ดิลก ถือกล้า

ข่าวกีฬาที่เป็นข่าวใหญ่ในช่วง2-3สัปดาห์ที่ผ่านมาข่าวหนึ่งคือ ข่าวที่ลีโอเนล เมสซี นักฟุตบอลชื่อก้องโลกมากด้วยผลงานของสโมสรบาร์เซโลน่าได้แจ้งว่า ขอย้ายออกจากทีมเพื่อไปหาความท้าทายใหม่

โดยนักเตะชาวอาเจนตินาผู้ได้ฉายาว่าเป็นนักเตะจากนอกโลกได้ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ชื่อดังอย่าง Goal.Com ว่า การที่เขาอยากจะไปจากทีมที่สร้างเขาขึ้นมาเป็นเพราะเขามองว่าถึงเวลาที่ทีมรักของเขาควรต้องได้ผู้เล่นที่หนุ่มกว่า ที่สดใหม่กว่า และคิดว่าเวลาของเขาได้หมดลงแล้ว

แต่ทว่าสิ่งที่กลายเป็นประเด็นร้อนแรง คือ ทางสโมสรได้แจ้งว่า เขายังไม่มีสิทธิย้ายออกจากทีม หากเขาจะย้ายหรือทีมใดต้องการตัวจะต้องจ่ายค่าฉีกสัญญาถึง 700 ล้านยูโรให้กับสโมสรบาร์เซโลน่า เรื่องทำท่าจะไปหาข้อยุติที่ศาล แต่สุดท้ายเมสซีได้ตัดสินใจที่จะอยู่ต่ออีกหนึ่งปี พร้อมกับแจ้งความจำนงว่าจะขอย้ายออกจากสโมสรเมื่อครบระยะเวลาที่แจ้งไว้

โดยเขาให้เหตุผลว่า “ผมจะไม่มีทางที่จะไปขึ้นศาลเพื่อฟ้องร้องสโมสรแห่งนี้ที่ผมรักเป็นสโมสรที่ให้ผมทุกอย่างตั้งแต่วินาทีแรกที่ผมมาถึง นี้คือสโมสรที่เป็นชีวิตของผมและผมก็สร้างชีวิตของผมที่นี่” ซึ่งเป็นคำพูดที่สะท้อนถึงความรักที่เขามีต่อสโมสรแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

สิ่งที่น่าสนใจอีกมุมหนึ่งของกรณีนี้ คือ หากนำเรื่องการบริหารคนเก่งหรือ Talentในองค์กร มาอธิบายปรากฎการณ์ของเมสซีกับบาร์เซโลนาจะเห็นมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวการบริหาร Talent และในทางกลับกัน ก็ได้เห็นว่าสโมสรได้ทำอะไรกับเมสซีจึงทำให้เกิดเหตุการณ์แบบที่เรียกได้ว่าจะจากลากันไม่ดีเท่าใดนัก

ผมขอมองเหตุการณ์นี้ผ่านการบริหาร Talent ที่ประกอบด้วยสี่กระบวนการหลักคือ การค้นหา Talent (Identification) การพัฒนา (Development) การมอบหมายงาน (Utilization) และการให้รางวัลผลตอบแทน (Reward & Recognition) การค้นหา Talent ต้องชื่นชมทีมคัดเลือกตัวของสโมสรที่สามารถเฟ้นหาเด็กชายเมสซีมาจากอีกมุมโลกมาเข้าทีมได้ แถมเป็นเด็กชายมากพรสวรรค์ที่มีโรคประหลาดที่พบตอนอายุ 10 ขวบ ว่ามีภาวะขาดฮอร์โมนการเติบโต ทำให้มีรูปร่างไม่เหมาะแก่การเล่นฟุตบอล

โดยความผิดปกตินี้จะเกิดขึ้นเพียง 1 ใน 20 ล้านคนเท่านั้น เป็นการผิดปกติทางร่างกายที่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงมาก ครอบครัวเมสซี่หาทางออกด้วยการส่งเทปการเล่นฟุตบอลของเขาไปให้สโมสรบาร์เซโลนาในเมื่อปี 2000

หลังจากนั้น สโมสรได้เชิญเมสซีมาทดสอบฝีเท้า แล้วได้ให้สัญญาฉบับแรกโดยสัญญาว่าจะจ่ายค่ารักษาให้ทั้งหมด ถ้าเมสซีย้ายมาอยู่ที่สเปน จึงทำให้เขาและครอบครัวย้ายมาที่นี่ตั้งแต่เมสซี่อายุได้ 13 ปี และได้กลายเป็นเมสซีนักฟุตบอลชื่อก้องโลกในปัจจุบัน

สิ่งที่มองเห็นจากการค้นหา Talent กรณีเมสซีคือ 1. ไม่สนใจว่า Talent เป็นคนชาติไหน ขอให้เป็นคนเก่งจริง และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้องค์กรได้ 2.หากชัดเจนว่าใครเป็น Talent จะต้องรีบเอาเข้ามาพัฒนาส่งเสริม ว่ากันว่า วันแรกที่เมสซีถูกเรียกมาพัฒนาฝีเท้า เขาได้รับสัญญาฉบับแรกทันทีด้วยการเขียนลงบนกระดาษเซ็ดปากในร้านอาหาร

3. การหา Talent ด้วยสมการสองมิติ คือ ผลงานที่ผ่านมา คู่กับการมองเห็นศักยภาพในอนาคตยังใช้ได้ดี รวมทั้งกรณีของเมสซีด้วยเช่นกัน

การพัฒนา Talent ไม่มี Talent คนไหนที่สมบูรณ์แบบ รวมทั้งเมสซีที่แม้เขาจะเป็นนักเตะพรสวรรค์ แต่มีปัญหาสุขภาพ ร่างกายที่เล็ก รวมไปถึงการเป็นคนที่มาจากต่างถิ่นสโมสรจึงต้องพัฒนาเขาทั้งฝีเท้า การปรับตัว และการพัฒนาร่างกายให้แข็งแรงขึ้นซึ่งเป็นการลงทุนในการพัฒนาสำหรับนักกีฬาคนหนึ่งที่สูงมาก เพราะไม่ใช่เป็นเพียงการลงทุนพัฒนาในสนามเท่านั้น

แต่รวมถึงการพัฒนาเรื่องอื่นๆนอกนามให้กับ Talent คนนี้อีกด้วย สิ่งที่มองเห็นจากการพัฒนา Talent กรณีเมสซี คือ 1.การพัฒนา Talent จะต้องวางแนวทางการพัฒนาที่ไม่เพียงด้านที่เกี่ยวกับงานโดยตรงแต่ควรจะรวมไปถึงเรื่องอื่นๆที่จะช่วยเสริมให้ศักยภาพของ Talentมีความโดดเด่นขึ้นมาด้วย 2. การรู้ว่า Pain Point ของ Talent คืออะไร จะทำให้เราหาแนวทางการพัฒนา Talent ได้อย่างถูกจุดและครบถ้วน

กรณีเมสซีอาจจะชัดว่า Pain point เขาคือ เรื่องร่างกายและการปรับตัว แต่ Talent บางคนก็จะมี Pain Point ที่มองเห็นได้ไม่ชัดที่เราต้องค้นหาและนำมาพัฒนาส่งเสริม

การมอบหมายงานให้ Talent

เมื่อพัฒนา Talent จนได้ศักยภาพตามที่ต้องการแล้ว เช่น กรณีเมสซีที่เขายกระดับตัวเองขึ้นมาเป็นผู้เล่นของสโมสรชุดใหญ่ได้ตอนอายุเพียง 18 ปี และได้สร้างผลงานเอาไว้อย่างมากมายตั้งแต่ตอนนั้น การวางแผนของโค้ชแต่ละคนไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปมากี่คน แต่ Talent อย่างเมสซีจะถูกใช้งานหลัก จะถูกวางให้เป็นศุนย์กลางของทีมในการทำเกมส์เสมอ

สิ่งที่มองเห็นจากการมอบหมายงานให้ Talent

กรณีเมสซี คือ 1. การมอบหมายงานให้ Talent ควรจะเป็นงานที่ยากหรือสำคัญหรือสร้างผลกระทบ (Impact) ต่องค์กร เพราะ Talent จะหาทางไปหรือหาทางออกให้กับองค์กรได้เสมอเมื่อเจอทางตัน เหมือนการเล่นในสนามของบาเซโลนา ถ้าถึงจุดที่การเดินเกมส์ไม่รื่นไหล เมื่อมาฝากบอลไว้ที่เมสซี่ ก็จะมีทางไปได้เสมอ

2. องค์กรส่วนใหญ่มักจะมอบหมายให้ Talent รับบทบาทเป็นผู้นำ รวมทั้งกรณีของเมสซีที่เขาได้รับบทเป็นกัปตันทีม แต่เรื่องการมอบหมาย Talent ให้รับบทเป็นผู้นำอาจจะไม่ใช่เป็นการมอบหมายที่ถูกต้องที่ใช้ได้เสมอไป เพราะ Talent ที่โดดเด่นในงานมากๆอาจจะไม่มีความโดดเด่นในการนำก็ได้

กรณีเมสซีที่ได้รับมอบหมายให้เป็นกัปตันทีมทั้งบาเซโลนาและทั้งทีมชาติอาร์เจนตินา ถูกวิจารณ์มากเรื่องการปลุกทีมให้ฮึกเหิมในช่วงเวลาที่ทีมกำลังเพลี่ยงพล้ำในสนามแข่ง

การให้รางวัลและผลตอบแทน Talent

การให้รางวัลและผลตอบแทน Talent เป็นเรื่องสำคัญที่องค์กรจะต้องให้ความสำคัญ หลายองค์กรวางแผนพัฒนา ค้นหา Talent ไว้อย่างดี แต่ไม่กล้าที่จะวางระบบผลตอบแทนที่ให้เห็นความแตกต่างซึ่งจะทำให้มีโอกาสเสีย Talent ได้

สิ่งที่มองเห็นจากการให้รางวัลและผลตอบแทน Talent กรณีเมสซีคือ 1. ควรให้ผลตอบแทนที่แตกต่างและฉีกออกไปชัดเจนจากคนอื่นที่ไม่ได้ระบุตัวเป็น Talent กรณีเมสซีมีรายได้เป็น ลำดับ 1 ของนักฟุตบอลรวมต่อปีอยู่ที่ประมาณ 4,680 ล้านบาท

2. การให้รางวัลควรไม่ใช่เป็นเพียงตัวเงิน แต่ควรจะคิดถึงรางวัลในรูปแบบอื่นด้วย และหากองค์กรใดสามารถวางกระบวนการบริหาร Talent ได้อย่างมีประสิทธภาพทั้งสี่กระบวนการ ก็จะสามารถรั้งให้ Talent ยังอยู่ทุ่มเทให้กับองค์กรอย่างต่อเนื่อง แต่หากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ Talent ขาดความผูกพันกับองค์กรแล้ว Talent ก็พร้อมที่จะเดินจากไปแม้เขาจะยังรักองค์กรมากแค่ไหนก็ตาม

โดยคำกล่าวที่เราคุ้นกันคือคำว่า “Talent joins organizations but leave His/her leader” หมายถึง Talent เข้ามาเพราะองค์กรและเดินจากไปเพราะคนที่เป็นผู้นำองค์กร กรณีของเมสซีก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนสำหรับกรณีนี้

จากบทสัมภาษณ์ประโยคหนึ่งที่เขากล่าวถึงประธานสโมสรบาเซโลนา เขาได้กล่าวว่า “ การบริหารสโมสรภายใต้การนำของ Josep Mario Bartomeu นับได้ว่าเป็นหายนะโดยแท้” เป็นการตอกย้ำคำว่า Talent leave his leader อย่างแท้จริง