posttoday

วิกฤตการบิน

05 มีนาคม 2562

ช่วงวันที่ 26-28 ก.พ. เป็นวันที่ค่อนข้างโกลาหลมากๆ สำหรับธุรกิจการบิน

เรื่อง มือสายฟ้า

ช่วงวันที่ 26-28 ก.พ. เป็นวันที่ค่อนข้างโกลาหลมากๆ สำหรับธุรกิจการบิน เนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถานทวีความรุนแรงขึ้นถึงขนาดมีการส่งเครื่องบินออกมาทิ้งระเบิดและทำสงครามทางอากาศระหว่างกัน ทำให้ต้องมีการปิดน่านฟ้าของปากีสถาน

ธุรกิจการบินโกลาหลเนื่องจากปากีสถานและอินเดียเป็นพื้นที่ทางผ่านของเส้นทางการบินสำคัญที่สายการบินนิยมใช้มากที่สุดในการเดินทางจากตะวันออกไปยุโรป หรือแม้กระทั่งจากทางใต้ตั้งแต่มาเลเซีย สิงคโปร์ ลงไปถึงออสเตรเลีย

หลายสายการบินจึงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยบินผ่านทางประเทศอิหร่านแทน ซึ่งจะไกลกว่าเส้นทางเดิมพอสมควร ซึ่งหากเราดูข้อมูลจากแอพพลิเคชั่นไฟลต์เรดาร์แล้ว พบว่ามีการบินในเส้นทางดังกล่าวค่อนข้างหนาแน่น

ขณะที่บริเวณประเทศปากีสถานและอินเดียแทบไม่มีเครื่องบินบินผ่านเลย สายการบินแห่งชาติประกาศงดทำการบินในทุกเที่ยวบินที่ทำการบินจากกรุงเทพฯ ไป-กลับ ยุโรปทุกเที่ยวบินในวันที่ 27 ก.พ. ต่อเนื่องมาวันที่ 28 ก.พ. ทำให้มีผู้โดยสารตกค้างไม่สามารถเดินทางได้รวมแล้วกว่า 5,000 คน

แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือจากข้อมูลที่ได้พบว่านอกจากสายการบินแห่งชาติแล้ว มีบางสายการบินที่มีจุดหมายปลายทางที่ปากีสถานหรืออินเดียเท่านั้นที่ทำการหยุดบิน

ส่วนสายการบินหลักต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสวิสแอร์ที่บิน กรุงเทพฯ-ซูริก หรือบริติช แอร์เวย์ ที่บินกรุงเทพฯ-ลอนดอน และสายการบินหลักอื่นๆ ที่บินกรุงเทพฯ-เวียนนา ไม่ได้ทำการหยุดบินแต่อย่างใด หรือแม้แต่สายการบินเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์แอร์ไลน์ส ยังทำการบินโดยยอม
ที่จะเติมน้ำมันเพิ่ม

สิ่งที่น่ากังขาคือการออกมาให้ข้อมูลของสายการบินแห่งชาติบอกเพียงว่า “จำเป็น” ต้องหยุดบินเพราะปากีสถานปิดน่านฟ้า เป็นเหตุผลที่ฟังได้มากน้อยเพียงไร เพราะสายการบินหลักอื่นๆ ที่บินไปและกลับกรุงเทพฯ ยุโรป ในช่วงเวลาดังกล่าว ทำไมเขาทำการบินได้

อะไรคือเหตุผลที่แท้จริงที่สายการบินแห่งชาติไม่สามารถทำการบินเส้นทางอื่นเหมือนกับที่สายการบินหลักอื่นๆ เขาบินกันจนส่งผลทำให้ต้องหยุดการบินในช่วงเวลาดังกล่าว

และหลังจากเริ่มบินได้ในช่วงบ่ายของวันที่ 28 ก.พ. สายการบินแห่งชาติก็ใช้เส้นทางบินที่สายการบินอื่นๆ ไม่ค่อยจะใช้กันเพราะใช้เวลาบินนานกว่าบินผ่านทางอิหร่านไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง คือทำการบินผ่านมาทางด้านเหนือของประเทศจีน แน่นอนต้องมีค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงค่อนข้างสูง

วิกฤตที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ส่งผลให้สายการบินแห่งชาติต้องแบกรับค่าใช้จ่ายมากขึ้นไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจการบินระหว่างประเทศ

การหยุดบินโดยอ้างเหตุผลค่อนข้างคลุมเครือเพียงประการเดียวว่าปากีสถานปิดน่านฟ้า แต่ไม่ทำการบินในเส้นทางบินที่สายการบินหลักอื่นๆ เขาสามารถทำการบินได้ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาบางอย่างภายในองค์กรที่สายการบินแห่งชาติไม่สามารถอธิบายให้สาธารณชนเข้าใจได้หรือไม่

ลักษณะวัฒนธรรมองค์กรของสายการบินแห่งชาติยังคงไม่มีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ก็น่าเป็นห่วงว่าหากเกิดวิกฤตลักษณะนี้ขึ้นอีกครั้ง สายการบินแห่งชาติคงต้องประกาศหยุดบินอีก

ในขณะที่สายการบินอื่นๆ เขาบินได้ แล้วเราจะไปแข่งขันกับเขาได้อย่างไร?