posttoday

ช่วงโปรขายฝัน

21 กุมภาพันธ์ 2562

ช่วงนี้หันไปทางไหนก็เห็นแต่ป้ายหาเสียงของพรรคการเมือง รถหาเสียงก็เห็นกันแทบทุกมุมถนน

เรื่อง มะกะโรนี

ช่วงนี้หันไปทางไหนก็เห็นแต่ป้ายหาเสียงของพรรคการเมือง รถหาเสียงก็เห็นกันแทบทุกมุมถนน ได้เห็นบรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งกันแทบทุกช่องทางการสื่อสาร

พรรคการเมืองต่างๆ หาเสียงกันอย่างคึกคัก มีการทำโพล จัดขบวนหาเสียงในทุกรูปแบบ เมื่อใครริเริ่มก็มีการแก้เกมเชิงรุกอย่างไม่หยุดยั้ง แทบทุกพรรคชูคนรุ่นใหม่ขึ้นมายืนแถวหน้า โชว์ความสวยความหล่อทั้งของตัวผู้สมัครและทีมหาเสียงสร้างสีสันได้ไม่น้อย

เป็นที่น่าสังเกตว่า การเลือกตั้งรอบนี้ แต่ละพรรคแข่งขันด้วยนโยบายประชานิยมอย่างน่าตกใจ

หลายพรรคประกาศทั้งแจกเงินและสวัสดิการเอาใจประชาชนในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ในครรภ์ มารดา เรียนฟรี-รักษาฟรี ไม่มีงานทำหรือมีรายได้น้อย ได้เบี้ยคนจนไปถึงวัยชรา หนำซ้ำยังมีการเกทับเบี้ยคนชราแบบปาดหน้าคู่แข่งกันแบบได้ใจผู้สูงวัยจากเดือนละ 1,000 บาท เพิ่มเป็น 1,800 บาท เด็กแรกเกิดได้ 5,000 บาท หลัง 1 เดือน ได้ 1,000 บาท จนครบ 8 ขวบ กรณีนี้ก็ถูกบางพรรคเกทับอีก ด้วยเงินเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่เกิดไปจนอายุ 6 ขวบ เดือนละ 1,200 บาท

ยังไม่นับแนวคิดที่จะเอาใจข้าราชการกลุ่มต่างๆ ทั้งขึ้นเงินเดือน ทั้งประกาศช่วยล้างหนี้ ทั้งสวัสดิการในฝัน ที่ฟังหรือเห็นแล้วต้องเคลิ้มอย่างแน่นอน

น่าแปลกนะครับ บางพรรค ก่อนหน้านี้ออกตัวสุดแรงว่าต่อต้านนโยบายประชานิยมที่เคยเชื่อว่า นโยบายประชานิยมนั้นมีผลดี เพียงระยะสั้น แต่จะสร้างความเสียหาย อย่างยากจะประเมินในระยะยาว ก็กลายเป็นแกล้งทำเป็นไม่เห็น

ทั้งๆ ที่ผ่านมาก็เคยประจักษ์กันมาแล้วว่า ประเทศลาตินอเมริกาที่ใช้นโยบายประชานิยมต่างก็อ่วมกันถ้วนหน้า อาร์เจนตินา บราซิล เปรู นิคารากัว และเวเนซุเอลา ที่ต่างตกอยู่ในสภาพที่รัฐบาล จะไม่สามารถกู้เงินมาขับเคลื่อนประเทศได้อีก เพราะผู้ให้กู้เริ่มระวังในความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งดูจากภาวะขาดดุลการคลังและดุลบัญชี เดินสะพัดมาก การส่งออกที่ไร้ความสามารถในการแข่งขัน

แต่ดูเหมือนว่า วิกฤตของลาตินอเมริกาหรือประเทศอื่นๆ จะไม่สร้างการตื่นรู้ให้กับพรรคการเมืองไทย หรือว่าจริงๆ แล้วก็เริ่มจะไม่สนกันแล้วว่าจะเอาชนะการเลือกตั้งฝ่ายตรงกันข้ามด้วยวิธีไหน ขอให้ชนะก่อน เรื่องอื่นค่อยว่ากัน

เราล่ะเรียนรู้อะไรบ้าง ลืมไปแล้วหรือว่าต้องเรียนรู้ว่าความผิดพลาดในอดีตนั้นต้องนำมาเป็นบทเรียนอะไรบ้าง ยังไม่นับถึงรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ อีกมากมาย เช่น นโยบายประชานิยมบางโครงการที่บางพรรคเคยหาเสียงนั้น ทิ้งภาระให้รัฐและประชาชนผู้เสียภาษีด้วยงบประมาณปีละ 1.91 แสนล้านบาท แต่บริการที่ได้รับก็ใช่ว่าจะเป็นไปเหมือนที่เคยขายฝันไว้

ว่ากันว่า เท่าที่กวาดตาดูนโยบายประชานิยมของแต่ละพรรคในปัจจุบัน แล้วนำไปทำจริง คาดว่าอาจจะใช้เงินเพิ่มไม่น้อยกว่าปีละ 3 แสนล้านบาท เรื่องนี้ต้องตั้งคำถามให้ได้ว่า จะหาเงินมาจากไหน มีใครเคยเห็นพรรคการเมืองไหนออกมาบอกหรือสร้างหลักประกันได้บ้างว่าจะเอาเงินมาจากไหน

ทำไมแต่ละพรรคไม่พูดถึงทางออกหรือปัญหาที่เผชิญอยู่บ้าง ปัจจุบันแต่ละปี รายได้ของรัฐจากภาษีจมอยู่ในอาการสาหัส ไม่พอจ่าย ต้องใช้งบประมาณขาดดุลมาตลอด ปีนี้สูงถึง 4.5 แสนล้านบาท

ยังไม่นับถึงผลพวงจากความล้มเหลวของนโยบายประชานิยมในอดีต ที่ไม่เห็นว่าจะมีพรรคไหนแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองก่อไว้แต่อย่างใด...เราจะอยู่กันแบบเคลิบเคลิ้มไปกับโปรขายฝันช่วงเลือกตั้งแบบนี้จริงหรือ