posttoday

Zero wasteทางปาล์ม

01 กุมภาพันธ์ 2562

นับเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจเพื่อสู้กับสภาวะราคายางพาราและปาล์ม ตกต่ำ

เรื่อง กัปตัน ป.

นับเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจเพื่อสู้กับสภาวะราคายางพาราและปาล์มตกต่ำ ที่สำคัญเป็นนวัตกรรมชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม ที่ชาวบ้านสามารถนำเศษพืชผลทางการเกษตรเหลือใช้จากก้านต้นปาล์ม หรือ “ทางปาล์ม” ตามภาษาถิ่นปักษ์ใต้มาใช้ประโยชน์ตรงเป๊ะกับแนวคิด ขยะเหลือศูนย์หรือ Zero Waste แนวคิดที่ยึดหลักการการกำจัดขยะให้หมดสิ้นไม่เหลือ แต่กลับสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้นำกลับมาใช้ใหม่ และเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นแนวคิดที่น่าขยายผลว่า “ทางปาล์ม” จะนำไปทำประโยชน์สิ่งใด
ได้อีกบ้าง นอกจากเป็นอาหารเลี้ยงด้วงสาคูสร้างรายได้เสริมให้แก่คนปักษ์ใต้ที่กำลังนิยมกันในตอนนี้

เศรษฐกิจภาคใต้เจอวิกฤตปาล์มและยางพาราราคาถูก การหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของคนปักษ์ใต้จึงแสนยากลำบาก จำต้องหาช่องทางอื่นเพื่อมีรายได้เสริมเข้ามาเลี้ยงครอบครัว ดังนั้นเกษตรกรส่วนหนึ่งจึงเกิดแนวคิดหาช่องทางหากินและเพิ่มมูลค่า “ทางปาล์ม” ที่ใครๆ เห็นว่าไร้ค่าให้กลายมาเป็นรายได้ ด้วยการนำมาเป็นอาหารเลี้ยงด้วงสาคู หรือด้วงมะพร้าวที่กำลังฮิตเลี้ยงกันตอนนี้ ถือเป็นนวัตกรรมทางภูมิปัญญาของชาวบ้านโดยแท้

ตัวอย่างเกษตรกรที่น่ายกย่องในชุมชนคลองลอก ต.ประสงค์ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี นับเป็นกลุ่มเกษตรกรตัวอย่างที่กล้าคิดใหม่ ด้วยการศึกษาสิ่งรอบๆ ตัวว่าจะหาวิธีทำอย่างไรให้เลี้ยงด้วงสาคูแบบต้นทุนต่ำที่สุดและจะใช้เศษวัสดุเหลือใช้ของทางต้นปาล์มในสวนที่มีอยู่เต็มไปหมดรอบๆ บ้านมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร จึงนำมาทดลองเลี้ยงด้วงสาคู

แรกๆ กลุ่มเกษตรกรไปซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มาเลี้ยงกับการไปหาจากต้นด้วงสาคูที่มีอยู่ในสวนอยู่แล้ว มาทดลองเพาะขยายพันธุ์ในกะละมัง เรียนรู้ด้วยตัวเอง ลองผิดลองถูก ผสมกับดูจากสื่อโซเซียลมีเดียยูทูบ แรกๆ เน้นให้อาหารตามที่ยูทูบบอก คือ ขุยมะพร้าว แต่เห็นว่าน่าจะใช้วัสดุอื่นทดแทนได้ จากนั้นทดลองมาใช้ทางปาล์มขูดฝอยคือคำตอบ ซึ่งสามารถเลี้ยงด้วงสาคูได้ดีอีกด้วย โดยตัวอ่อนด้วงสาคูจับขายได้กิโลกรัมละ 250 บาท ถือว่ารายได้ดีไม่เบา เพราะปัจจุบันด้วงสาคูนำไปประกอบอาหารได้หลากหลาย เช่น ทอด คั่วเกลือ หมก แกง หรือผัด รสชาติแสนอร่อย มีโปรตีนสูงไม่แพ้โปรตีนจากเนื้อสัตว์นิยมรับประทานกันแพร่หลาย หรือแม้แต่นำไปทำเป็นแคปซูลอาหารเสริมเพิ่มกำลังด้วยซ้ำไป

แนวคิดดังกล่าวนับเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน เพราะใครจะเชื่อว่าเกษตรกรคนหนึ่งจะคิดนำเศษวัสดุทางการเกษตรทั้งใบ ก้าน หรือต้นปาล์มที่มีเหลือมากมายจนไร้ค่ามาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ดังนั้นภาครัฐสถาบันการศึกษา หรือภาคเอกชน น่าจะเข้ามาศึกษาและวิจัยต่อยอดแนวคิด Zero Waste ด้านเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในภาคใต้มาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งปาล์มและยางพาราว่าจะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ หรือใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง เช่น พลังงานชีวมวล ถ่านอัดแท่งจากทางปาล์ม คล้ายๆ ถ่านไม้ไผ่อัดแท่งที่นิยมนำมาเป็นเชื้อเพลิงอาหารปิ้งย่าง หรือปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากมูลด้วงสาคูนำไปเป็นปุ๋ยปลูกต้นไม้ ที่ได้จากกากหรือขุยมะพร้าวและทางปาล์ม เป็นต้น

การแปรนโยบาย Zero Waste มาเป็นรายได้หรือเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่เกษตรกรนับเป็นเรื่องที่ดี จึงควรสนับสนุนต่อยอดอย่าปล่อยให้เกษตรกรตัวเล็กๆ ต้องดิ้นรนลำพังเอาตัวรอดโดยที่ภาครัฐไม่เหลียวแล เป็นแบบนี้หน่วยงานภาครัฐจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหนกัน เพราะแม้แต่ชาวสวนปาล์มยังวิสัยทัศน์กว้างไกลได้ขนาดนี้แต่ภาครัฐยังงมโข่ง!