posttoday

มาตรฐานที่เท่ากัน

14 มกราคม 2562

เป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดหรือนึกไม่ถึงว่าจะเป็นประเด็นให้ถูกหยิบยกขึ้นมา

เรื่อง ทองพระราม

เป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดหรือนึกไม่ถึงว่าจะเป็นประเด็นให้ถูกหยิบยกขึ้นมากลายเป็นข้อถกเถียงในสังคม โดยเฉพาะประเด็นการแต่งกายของนักเรียน ระหว่างชุดนักเรียนและชุดไปรเวท จนเกิดเป็นคำถามว่าอย่างไหนคือทางออกอันดีสำหรับเยาวชนไทย

หลังโรงเรียนสุภาพบุรุษชายล้วนรั้วช่อชงโค ย่านถนนสาทร เปิดให้เด็กสามารถสวมชุดไปรเวทมาเรียนได้ 1 วัน หรือปล่อยฟรีสไตล์ตามใจชอบ ซึ่งมองแล้วถือเป็นการผ่อนคลายหลังต้องตรากตรำเดินทางมาร่ำเรียนอย่างเคร่งเครียด ถือเป็นมิติใหม่การศึกษา

จนเกิดเสียงตามมาถึงความเหมาะสม เพราะเกรงว่าเด็กโรงเรียนอื่นๆ อาจจะเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ทว่า หากมองประเด็นนี้แบบอย่างรอบด้าน มันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย หากมองข้อดีประการแรกแบบง่ายๆ คือ ช่วยผู้ปกครองประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดนักเรียน

เพราะสามารถหยิบจับชุดอะไรที่มีอยู่ในบ้านสวมใส่แล้วเดินทางออกจากบ้านมาเรียนได้ตามปกติ แต่หากมองอีกมุม เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำของเด็กที่อยู่ในโรงเรียนเดียวกัน แม้จะมีที่มาฐานะแตกต่างกันก็สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องแบ่งแยกฐานันดร

ก็ถือเป็นเรื่องดีอีกแบบ แต่หากมองเชิงลึกถึงความเหลื่อมล้ำเพียงแค่การแต่งตัว แม้จะใส่ชุดอะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น ยกตัวอย่าง แม้จะใส่เครื่องแบบชุดนักเรียนแต่ความเหลื่อมล้ำมันปรากฏอยู่บนตัวย่อบนหน้าอก ที่บ่งบอกถึงชื่อสถาบันการศึกษาว่าเรียนที่ไหน

หรือหากใส่ชุดไปรเวทก็บ่งบอกด้วยสไตล์เสื้อผ้าการแต่งตัว ทั้งแบรนด์เนม รองเท้า หรือของใช้เครื่องประดับติดตัว ดังนั้น จะเห็นได้ว่าความเหลื่อมล้ำไม่ได้หายไป เพียงแต่ว่าถูกซ่อนไว้อยู่ในอีกรูปแบบ ฉะนั้น หากกล่าวถึงประเด็นนี้คงต้องตัดออกไปได้เลย

แต่ไม่ว่าจะด้วยความประหยัดเงินในกระเป๋าพ่อแม่ตามยุคเศรษฐกิจ หรือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำตามที่หลายฝ่ายกังวลวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมอะไรต่างๆ ทั้งหมดคงยากแก้ไขในประเด็นเหล่านี้เบาบางลงไปได้ ซึ่งต้องอย่าลืมว่าพื้นฐานแต่ละคนไม่เท่ากัน

สิ่งที่ควรให้ความสำคัญมากกว่าและจะเป็นบรรทัดฐานอันดีต่อไปในอนาคต นั่นคือต้องไม่ทำให้ระบบการศึกษาเกิดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งหมายความว่าจากนี้ไปมาตรฐานการเรียนรู้ของเด็กๆ ต้องเท่ากันทั่วประเทศ ไม่ใช่เฉพาะเพียงแค่กรุงเทพฯ เท่านั้น

น่าจะเป็นคำตอบที่เหมาะมากกว่าจะมาพูดถึงเรื่องการแต่งตัว ว่าแบบไหนเหมาะหรือไม่เหมาะกับการเรียน หากมาตรฐานการศึกษายังถูกแบ่งแยกจนเกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะสังคมไทยไม่ว่าทุกยุคไหนก็ยังคงให้คุณค่าต่อตัวสถาบันการศึกษามาก

สิ่งที่ดีและสามารถทำให้เป็นไปได้อย่างมีคุณค่ามากที่สุด คือ การทำให้ทุกสถาบันมีมาตรฐานเท่ากัน แม้จะเป็นเพียงสถาบันเล็กๆ ในต่างจังหวัด ก็ควรได้รับความเท่าเทียม เพื่อสร้างเด็กให้ออกมาได้อย่างมีมาตรฐานทั้งการเรียนสอน เครื่องไม้เครื่องมือ

ที่ภาครัฐควรเข้าไปดำเนินการตรงนี้ให้มีความเสมอภาคมากที่สุด ตามโลกที่พัฒนาไปไกลแบบก้าวกระโดด เพราะนั่นจะเกิดประโยชน์กับเด็กๆ ทั่วประเทศ แม้ว่าจะอยู่ห่างไกลแค่ไหน ก็สามารถเข้าถึงทางการศึกษาได้โดยไม่มีอะไรปิดกั้นให้เป็นอุปสรรค

ตรงนี้จึงนับว่าเป็นคุณูปการต่อการศึกษาไทยมากที่สุด ส่วนเรื่องการแต่งตัวยังเป็นเพียงแค่ปัญหาปลายเหตุ ที่สังคมไม่ควรพุ่งเป้าสนใจให้มากนัก เพราะเรื่องสำคัญที่สุด คือ อนาคตการศึกษาเด็กไทยควรทำให้ได้มาตรฐานเหมือนนานาอารยประเทศ