posttoday

ชุดนักเรียน

10 มกราคม 2562

โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยกลายเป็นสถานศึกษาสุดฮอต ในโลกออนไลน์ ทันทีที่มีข่าวว่าผู้อำนวยการและคณะอาจารย์เปิดโอกาสให้นักเรียนใส่ชุดไพรเวท

เรื่อง มะกะโรนี

โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยกลายเป็นสถานศึกษาสุดฮอต ในโลกออนไลน์ ทันทีที่มีข่าวว่าผู้อำนวยการและคณะอาจารย์เปิดโอกาสให้นักเรียนใส่ชุดไพรเวทหรือชุดอยู่บ้าน โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นชุดที่สุภาพมาโรงเรียนได้ในทุกวันอังคาร โลกโซเชียลต่างพูดถึงเรื่องนี้กันไปต่างๆ นานา แน่นอนว่าทั้งเห็นด้วยและคัดค้าน

กลุ่มที่เห็นด้วยอธิบายถึงเหตุผลว่าชุดนักเรียนนั้นมีความพิเศษ เป็นสัญลักษณ์ของการเคารพให้เกียรติสถานศึกษาที่ประสิทธิประสาทความรู้ให้แต่ละคนตั้งแต่ยังเด็ก เครื่องแบบนักเรียนมีพื้นฐานจากการแต่งตัวให้เข้ากับกาลเทศะ ความเหมาะสมของแต่ละแห่งอยู่แล้วเป็นทุนเดิมและมีประวัติยาวนาน

เล่ากันว่าชุดนักเรียนนั้นเริ่มขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงตั้งโรงเรียนหลวงในพระบรมมหาราชวังขึ้นและหลังจากนั้นทรงให้มีโรงเรียนสำหรับสามัญชน ในปีพุทธศักราช 2435 จนมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2482 ออกมาใช้บังคับ

ยุคแรกๆ แต่งกายตามเครื่องแบบทหาร ต่อมามีการกำหนดเครื่องแบบนักเรียนที่เป็นเสื้อราชปะแตน นุ่งผ้าโจงกระเบน สวมถุงเท้ายาวสีขาวพับขอบบน รองเท้าหนังสีดำ

ต่อมาราวสมัยรัชกาลที่ 6 เล่ากันไว้ว่าโรงเรียนในยุคนั้นยังสวมเสื้อราชปะแตนแต่เปลี่ยนจากนุ่งผ้าโจงกระเบนเป็นกางเกงตัดเป็นจีบรูดเลยหัวเข่าลงมาเล็กน้อยคล้ายโจงกระเบน และพัฒนาไปเป็นกางเกงจากรูปแบบเดิมเป็นกางเกงขาสั้น

นอกจากนี้ ตามประวัติยังเล่ากันด้วยว่าเครื่องแบบนักเรียนไทยอย่างเสื้อปกกะลาสีที่นักเรียนหญิงมัธยมต้นใส่ในปัจจุบันนั้นว่า มาจากยุคแรกที่ยังเรียนหนังสือในวัดและกลายเป็นชุดนักเรียน โดยอ้างอิงจากภาพเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดของอังกฤษ โอรสพระราชินีวิกตอเรียทรงแต่งชุดกะลาสี ที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์เมื่อปี 2389 ได้สร้างความนิยมในกลุ่มเด็กๆ ทั่วโลก จากนั้นมีการนำชุดกะลาสีไปเป็นแบบฟอร์มนักเรียนในสหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น จนมาถึงประเทศไทยในที่สุด

ยุคหนึ่งรัฐบาลเห็นว่าบทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมต่อยุคสมัย จึงได้มีการยกเลิก พ.ร.บ.เดิมและให้ใช้ พ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 แทน โดยกำหนดให้มีเครื่องแบบนักเรียนไว้เป็นมาตรฐานกลาง ประหยัดและเป็นระเบียบเรียบร้อย

เครื่องแบบนักเรียนนั้นมีวิวัฒนาการไปตามยุคสมัย ตามสภาพสังคมและเศรษฐกิจ กว่าจะมาจนถึงยุคใช้เสื้อเชิ้ตปักชื่อนามสกุล เลขประจำตัวนักเรียน ปักกระเป๋าเสื้อ ติดเข็มโรงเรียนแทนการปักชื่อโรงเรียนก็ยังมีโอกาสเปลี่ยนแปลงไปได้อีก

นั่นหมายความว่าหากมีการถกเถียงกันอย่างหลากหลาย มีหลักฐานที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ มีงานวิจัยสนับสนุน มีผู้ผลักดันอย่างแข็งขันต่อเนื่อง ก็เป็นไปได้ว่าในที่สุดชุดนักเรียนที่บังคับแต่งทั่วประเทศ ก็อาจจะกลายเป็นชุดไพรเวทกันหมดแบบโรงเรียนในหลายประเทศ

อย่างไรก็ตาม มีรายงานด้วยว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศยังบังคับแต่งชุดนักเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนค่าเทอมแพงหูฉี่ ลูกผู้ที่มีฐานะดีเท่านั้นถึงจะเข้าเรียนได้

กรณีโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนมีการชี้แจงว่าแนวคิดนี้เกิดขึ้นจากคณะครูตัดสินใจร่วมกันและทำในลักษณะวิจัยทดลองเพื่อตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงของโลก และหมายความว่าในที่สุดหากพบว่าแนวคิดนี้มีหลักฐานระบุว่าส่งผลกระทบให้เด็กเรียนแย่ลงก็จะยกเลิก