posttoday

พลิกโฉมจ่ายภาษี

08 มกราคม 2562

กรุงเทพมหานครจะเป็นเมืองที่มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีได้นั้น ต้องอาศัยเงินภาษีจากประชาชนเพื่อนำมาต่อยอดพัฒนา

เรื่อง แสงตะเกียง

กรุงเทพมหานครจะเป็นเมืองที่มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีได้นั้น ต้องอาศัยเงินภาษีจากประชาชนเพื่อนำมาต่อยอดพัฒนาในทุกด้าน อาทิ พัฒนาระบบการศึกษา ซ่อมแซมถนนหนทางที่ชำรุด เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เพียงพอต่อจำนวนประชากร ไปจนถึงเรื่องของสวัสดิการผู้สูงอายุ ฯลฯ จึงนับได้ว่าเป็นการนำเงินที่ได้จากประชาชนผู้เสียภาษีกลับมาตอบแทนพัฒนากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่ต่อไป

ด้วยนวัตกรรมสมัยใหม่ที่ทุกวันนี้คนในสังคมไทย มักใช้จ่าย-โอนเงินผ่านช่องทางแอพพลิเคชั่น สอดรับกับนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มุ่งเน้นผลักดันให้ประเทศไทยเปลี่ยนมาเป็นสังคมไร้เงินสด ยุค 4.0 ทางสำนักการคลัง กรุงเทพมหานคร (กทม.) จึงคิดค้นพัฒนารูปแบบการชำระภาษีทั้ง 3 ประเภท ประกอบด้วย ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย และภาษีบำรุงท้องที่ ผ่านระบบคิวอาร์เพย์เมนต์ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มช่องทางการชำระให้ประชาชนได้ทุกที่ ทุกเวลาและง่ายดาย

โดยระบบนี้ช่วยอำนวยให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษี สามารถชำระภาษีผ่านโมบายแบงก์กิ้ง ไปยังบัญชีธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ได้โดยไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทางมาชำระภาษีที่ธนาคารหรือสำนักงานเขต อีกทั้งไม่ต้อง
พกพาเงินสดเพื่อชำระภาษีจำนวนมาก

แต่เดิมช่องทางการชำระภาษีทำได้ 7 ช่องทาง ประกอบด้วย 1.ชำระที่กองการเงิน สำนักการคลัง 2.สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต 3.เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทยทุกสาขาทั่วประเทศ 4.ที่ทำการไปรษณีย์ 5.ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต 6.ที่เครื่องเอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทยเท่านั้น และ 7.ผ่านเครื่องอีดีซี ที่กองการเงินและที่สำนักงานเขต 50 เขต ชำระด้วยบัตรเดบิต/เครดิต/เฉพาะธนาคารกรุงไทยเท่านั้น

หลังจากนี้จะมีการรับชำระภาษีทั้ง 3 ประเภท ผ่านระบบคิวอาร์เพย์เมนต์ สามารถชำระได้กับทุกธนาคารที่เข้าร่วม KTB Cross-Bank Billpayment ปัจจุบันมีธนาคารเข้าร่วม จำนวน 10 ธนาคาร ที่สามารถรับชำระผ่านโมบายแบงก์กิ้ง ประกอบด้วย 1.ธนาคารกรุงไทย 2.ธนาคารออมสิน 3.ธนาคารกสิกรไทย 4.ธนาคารกรุงเทพ 5.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 6.ธนาคารทหารไทย 7.ธนาคารไทยพาณิชย์ 8.ธนาคารยูโอบี 9.ธนาคารธนชาต และ 10.ธนาคารเกียรตินาคิน เริ่มรับชำระผ่านโมบายแบงก์กิ้ง หรือคิวอาร์โค้ด ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา

ขณะที่ค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ กทม.จัดเก็บ อาทิ ค่าธรรมเนียมการเก็บขนมูลฝอย ค่าธรรมเนียมการขออนุญาตต่างๆ ยังติดระเบียบกฎหมาย ซึ่ง กทม.อยู่ระหว่างการปรับแก้กฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อการวางแผนพัฒนาการจ่ายค่าธรรมเนียมของประชาชนให้เกิดความสะดวกยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต

ขณะที่ผู้ใช้บริการเสียภาษีจำเป็นต้องมี 3 สิ่ง ลำดับแรก คือ มีโทรศัพท์มือถือประเภทสมาร์ทโฟนที่สามารถสแกนอ่านคิวอาร์โค้ดได้ ลำดับต่อมาต้องมีช่องทางการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น บัญชีอินเทอร์เน็ต หรือโมบายแบงก์กิ้ง บัญชีเงินฝากที่ผูกไว้กับระบบ
พร้อมเพย์ บัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตรเติมเงินอย่างใดอย่างหนึ่ง และลำดับที่ 3 คือ “แอพพลิเคชั่น” การโอนเงินของธนาคารพาณิชย์ หรือแอพพลิเคชั่นที่เป็นกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Wallet

ในไม่ช้าประเทศไทยจะก้าวสู่สังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของภาครัฐ ที่ใช้ระบบงานอิเล็กทรอนิกส์มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรับเงิน-จ่ายเงิน ช่วยให้บริหารจัดการเงินงบประมาณได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน