posttoday

ถึงเวลาประชันความงาม

08 มกราคม 2562

เป็นเรื่องที่น่าจับตาทันทีเกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ 700 MHz ที่จะดำเนินการภายในไตรมาสแรกของปี

เรื่อง ณ กาฬ เลาหะวิไลย

เป็นเรื่องที่น่าจับตาทันทีเกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ 700 MHz

ที่จะดำเนินการภายในไตรมาสแรกของปี

สาเหตุเนื่องจากมีการเสนอความคิด การประมูลคลื่น 700 MHz อาจเปลี่ยนเป็นแบบ บิวตี้ คอนเทสต์ หรือประกวดคุณสมบัติ ประกวดความงาม แทนการประมูลที่ใครให้ราคาสูง คนนั้นได้ไป

สำหรับคลื่นความถี่ดังกล่าว จะเอามาใช้สำหรับบริการ 5จี ที่ได้มีความพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น

สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) กำหนดให้คลื่นความถี่สำหรับ 5จี มี 3 กลุ่มคือ กลุ่มคลื่นความถี่ต่ำ กลุ่มคลื่นความถี่กลาง และกลุ่มคลื่นความถี่สูง

กลุ่มความถี่กลางและสูงจะนำมาให้บริการในพื้นที่ที่มีความต้องการใช้งานสูง ในขณะที่การให้บริการในวงกว้างครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ ต้องใช้งานคลื่นความถี่ต่ำ ก็คือคลื่นความถี่ 700 MHz นี่เอง

ขั้นตอนในขณะนี้คือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำลังให้คณะทำงานเร่งสรุปราคามูลค่าคลื่นที่แท้จริงให้เสร็จโดยเร็ว

จากนั้นจะได้นำร่างหลักเกณฑ์การประมูลไปรับฟังความเห็นสาธารณะ โดยเฉพาะในเรื่องบิวตี้ คอนเทสต์

เหตุผลก็คือในการประมูลคลื่นความถี่ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการมีภาระหนี้จากการประมูลมากถึงรายละ 5 หมื่น-1 แสนล้านบาท การประมูลแบบใครเสนอราคามากที่สุด อาจทำให้ไม่มีใครเข้ามาประมูล

คณะทำงานจึงมีแนวคิดว่าจะเปลี่ยนวิธีการประมูล โดยเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก อาทิ พิจารณาจากราคาค่าบริการต่ำสุด การเข้าสู่ 5จี เร็วสุด การขยายโครงข่ายเร็วสุด ให้เป็นผู้ชนะประมูลโดยคำนึงราคาประมูลให้น้อยที่สุด

แต่ทั้งหมดก็ต้องมาพิจารณาอีกครั้ง ถ้าเกิดปัญหาก็ต้องยกไปการประมูลคลื่นที่จะตามมา

นี่แหละ คือเรื่องใหญ่เอาการ

ที่ผ่านมาได้มีการถกเถียงกันมากพอดูเกี่ยวกับวิธีการประมูลคลื่นความถี่

แบบเดิมคือ ใครเสนอราคาสูงก็เอาไป ฝ่ายที่สนับสนุนก็ยืนยันว่าไม่ได้ทำให้ค่าบริการแพงขึ้น แต่เป็นการนำเงินจากภาคเอกชนที่ประเมินว่าจะมีกำไร มาจ่ายเป็นค่าประมูล

แถมยังยกตัวอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา เคยทำแบบบิวตี้ คอนเทสต์ มาก่อน ปรากฏว่ากลายเป็นวิธีการเอื้อผลประโยชน์ให้พวกพ้องทางการเมือง เป็นการยกทรัพยากรของประเทศไปให้เอกชนในราคาที่ต่ำเกินจริง

แต่อีกด้านฝ่ายคัดค้านการประมูลแบบให้ราคาสูงๆ ก็คือ ค่าสัมปทานที่จ่ายจะเป็นภาระแก่ระบบ ไม่ว่าจะเป็นผู้ลงทุน หรือประชาชนที่ใช้บริการ

เฉพาะอย่างยิ่งตัวอย่างเกิดขึ้นในการประมูลทีวีดิจิทัล พิสูจน์ให้เห็นถึงการแข่งขันด้วยราคาทำให้อุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลวิ่งลงเหว ธุรกิจขนาดทุนมโหฬาร ยิ่งเฉพาะในยุคการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว การอิงเฉพาะค่าประมูลก็ยิ่งทำให้เกิดปัญหาไม่รู้จบ

ฉะนั้นจึงควรหาทางประมูลด้วยวิธีอื่น ดีกว่าเดินหน้าแล้วแย่กันไปหมด

คงต้องรอดูกันต่อไป ระบบการประมูลคลื่นความถี่จะออกหัวหรือก้อย

ทุกวิธี ทุกระบบมีได้-มีเสียตามมาเหมือนกันหมด