posttoday

ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

27 กันยายน 2561

ไอเดียแก้ปัญหาจราจรและการปรับตัวของคนกรุง

โดย...มะกะโรนี

เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวมุมเล็กๆ ที่บอกว่า คณะทำงานบูรณาการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดการจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้ผุดไอเดียแก้ปัญหารถติดระดับโคม่าในย่านก่อสร้างรถไฟฟ้า โดยจะประสานเอกชนเพื่อขอพื้นที่จอดรถ และส่งเสริมให้ประชาชนจอดรถของตัวเองแล้วหันไปขึ้นรถขนส่งสาธารณะ

แน่นอนครับ เรื่องนี้ต้องติดตามกันต่อไป และจะเป็นการติดตามท่ามกลางคำถามมากมาย ซึ่งผมแน่ใจว่า คำถามหนึ่งที่ผู้มีรถยนต์ส่วนตัวทุกคนอยากถามเหมือนๆ กัน ก็คือ หากจะส่งเสริมให้ประชาชนหันไปใช้รถสาธารณะเดินทาง ไม่รู้ว่าผู้กำหนดนโยบายทราบหรือไม่ว่าสภาพของรถสาธารณะที่ต้องใช้กันอยู่นั้นเป็นอย่างไร

หากสำรวจถนนแต่ละสายที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าก็ชัดเจนละครับ ว่าที่ติดหนึบกันอยู่บนถนนนั้นส่วนใหญ่เป็นรถส่วนตัว เหตุผลที่เป็นอย่างนั้นก็เป็นเพราะส่วนใหญ่แล้วไม่ไว้ใจบริการสาธารณะ ซึ่งหมายถึง จักรยานยนต์รับจ้าง รถสองแถว แท็กซี่ รถเมล์ ลำพังช่วงปกติ ไม่มีฝนตกหรืออุบัติเหตุร้ายแรงบนถนนก็ยังพอพึ่งพาได้ นานๆ จะผ่านมาสักคันก็อดทนกันได้ แต่หากเข้าสู่ช่วงคับขันละก็ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

โดยปกติแล้ว เมื่อต้องเดินทางในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่แล้วทุกคนมักจะวางแผน ประเมินการใช้ถนนมาแล้วเป็นอย่างดี มักจะไม่เปลี่ยนเส้นทางและพาหนะที่เลือก เพราะนั่นหมายถึงความเสี่ยงที่อาจจะประเมินไม่ได้ ยิ่งมีตัวแปรอย่างช่วงหน้าฝนก็ยิ่งต้องวางแผนให้รัดกุมกว่าเดิม เพราะหากผิดพลาด ก็มีโอกาสให้แก้ตัวไม่มาก

ใครๆ ที่ยังไม่รู้จักฤทธิ์ของถนนที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า ขออนุญาตยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนเอง ที่พบเจอในช่วงวันหยุดที่ผ่าน เป็นอุทาหรณ์

เมื่ออยู่บนถนนลาดพร้าวในขวบปีนี้ มองขึ้นไปบนท้องฟ้าเห็นเมฆฝนตั้งเค้ามาแต่ไกล นั่นควรจะเป็นสัญญาณเตือนให้หลีกหนีจากถนนเส้นนี้อย่างสิ้นเชิง แต่ผมก็ประมาทเกินกว่าที่จะคิดเช่นนั้น และเชื่ออย่างคนมองโลกในแง่ดีว่า ฝนคงตกไม่นาน และหากการจราจรยังเป็นไปตามที่เสียงจากวิทยุบอกว่า “ยังคงเคลื่อนตัวได้ช้าสลับหยุดนิ่ง” ก็คงจะไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรง

แต่ฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก จนน้ำรอระบายเริ่มกลบถนนลาดพร้าวในบางจุดก็เปลี่ยนขากลับให้ตรงข้ามกับขามาอย่างสิ้นเชิง ตั้งแต่แยกรัชโยธิน หรือทุกแยกที่เชื่อมกับลาดพร้าวกลายเป็นลานจอดรถไปในทันที รถจอดนิ่งสนิทจากนาทีสะสมจนเริ่มนับเป็นชั่วโมง

หลายคนรวมทั้งผมลงจากรถสาธารณะเพื่อหาช่องทางเดินทางอื่น และนี่ก็เป็นโอกาสที่ทำให้เห็นว่า เมื่อเข้าสู่วิกฤตขั้นสูงสุด โอกาสที่จะพึ่งพาบริการเดียวที่เหลืออยู่อย่างจักรยานยนต์รับจ้าง ก็พังพาบลงตามไปด้วย วิบากกรรมที่เผชิญอยู่ กลายเป็นโอกาสในการขูดรีดค่าโดยสารและเลือกจุดหมายปลายทางได้

เมื่อเป็นเช่นนั้น ผมและเพื่อนร่วมชะตากรรมมากมายก็ตัดสินใจเดินเท้า เพราะเห็นว่าน่าจะเป็นโอกาสเดียวที่จะกลับถึงบ้านได้ และแล้วการเดินเท้าริมถนนลาดพร้าว ก็ทำให้รู้สิ่งที่ไม่เคยรู้มากมาย

คนเดินเท้านั้นต้องทำใจ หากฝนตกหนัก ต้องรับสภาพแบ่งฟุตปาทร่วมกับจักรยานยนต์ที่ได้สิทธิกระทั่งบีบแตรไล่คนเดิน และน่าเหลือเชื่อนะครับ ที่พบว่าระยะทางจากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินลาดพร้าวถึงตลาดบางกะปิ ประมาณ 6 กิโลเมตร ซึ่งหากโดยสารรถยนต์ก็จะใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง หรือบางช่วงก็มากกว่า แต่เดินเท้าใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมง

ผมออกจะแน่ใจว่า ความพยายามในการแก้ไขปัญหาจราจรนั้น ไอเดียไหนๆ ที่ประกาศออกมา ล้วนแต่กำลังบอกผมกับอีกหลายคนว่า นั่นคือความนัยที่กำลังบอกเราว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”