posttoday

ข้อตกลงซ่อนเงื่อน

26 กันยายน 2561

ความกังวลสำหรับการรับฟังความเห็นและการศึกษาเพื่อเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP

ข้อตกลงซ่อนเงื่อน : ความกังวลสำหรับการรับฟังความเห็นและการศึกษาเพื่อเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

โดย..ณ กาฬ เลาหะวิไลย

เป็นเรื่องที่มาแบบเรื่อยๆ แต่น่ากังวลสำหรับการรับฟังความเห็นและการศึกษาเพื่อเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP

ข้อตกลงที่ว่า ไม่ใช่เรื่องใหม่ เดิมเรียกว่า หุ้นส่วนเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ TPP แต่ต้องเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนแซ่ เนื่องจากมีชาติสมาชิกเก่าถอนตัวไป นั่นคือสหรัฐ

เมื่อยักษ์ขยับ ไม่เอาแล้วกับที่เคยสัญญาเอาไว้ อีก 11 ชาติที่เหลือ เลยกัดฟันเดินหน้าต่อไป ประกอบด้วย ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม

ยิ่งเฉพาะหลังจากสหรัฐกำลังฟาดงวงฟาดงา ทำศึกการค้ากับประเทศคู่ค้าสำคัญๆ ก็เลยทำให้ชาติต่างๆ ต้องจับมือรวมตัวกันมากขึ้น เพื่อคานอำนาจสหรัฐ

ข้อตกลง CPTPP ก็ไม่พ้นเงื่อนไขที่ว่า

สำหรับข้อตกลงที่ผลักดันกัน แม้จะลดความเย้ายวนตรงที่ตลาดใหญ่ของโลกอย่างสหรัฐถอนตัวไป แต่ทว่า ยังเป็นกลุ่มที่เป็นเขตการค้าใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลกอยู่ดี

รายละเอียดข้อตลงที่ยกร่างกัน จะครอบคลุมเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก

นอกจากนั้นยังมีประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ

ในด้านกฎเกณฑ์การเข้าเป็นสมาชิกก็ผ่อนคลายลง จากเดิมสหรัฐที่เป็นเสียงใหญ่และออกกฎ ข้อบังคับต่างๆ มากมาย ได้ถอนตัวไป

ถึงแม้ว่าข้อตกลง CPTPP จะลดเงื่อนไข เพิ่มโอกาสการส่งออกไปยังประเทศสมาชิก รวมถึงเป็นแรงจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะญี่ปุ่น แต่ก็ยังมีประเด็นที่ต้องคิดให้จงหนัก จากเงื่อนปมที่ซ่อนอยู่

นั่นคือใครจะเข้าร่วมในข้อตกลงการค้า CPTPP ก็จะต้องไปสมัครเป็นสมาชิกอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV (International Union for the Protection of New Varieties of Plants) เสียก่อน

อนุสัญญาฯ ที่ว่า จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการผลิตพันธ์ุพืชของไทย ต่อเกษตรกรไทย ต่อการวิจัยพันธุ์ในอนาคต เพราะเกี่ยวพันกับการวิจัยพันธุ์พืช การผูกขาดในการขายเมล็ด กิ่งก้านพันธุ์พืช ฯลฯ

เป็นอนุสัญญาฯ ที่ตีเข้ากล่องดวงใจของพื้นฐานเศรษฐกิจ รากฐานสังคมไทย

ขนาดที่กล่าวได้ว่า การเข้าไปเป็นสมาชิกอนุสัญญาพันธุ์พืชใหม่ จะมีผลกระทบในวงกว้าง ลงลึกถึงระดับเกษตรกร ส่งผลรุนแรงกว่าการเป็นสมาชิกข้อตกลงการค้า CPTPP เสียอีก

ทางที่ควรก็คือ หยุดคิดเกี่ยวกับข้อตกลงการค้า CPTPP และมานั่งมองให้รอบคอบเกี่ยวกับอนุสัญญาพันธุ์พืชใหม่ ก่อนที่จะะก้าวเดินต่อจะดีกว่า

งานนี้เหมือนมีการค้า การลงทุนเป็นเหยื่อล่อ

ปลาตัวไหนที่เซ่อซ่าเข้างับ ก็เสร็จกัน โดนจับ เอาหัว เอาพุงไปต้มกินเสียฉิบ

เรื่องนี้ยาว ซับซ้อน กระทบวงกว้าง ขอว่าต่อเป็นตอนๆ แล้วกัน