posttoday

ร้านสักเถื่อน

11 กันยายน 2561

ความงดงามของศิลปะบนผิวหนัง อาจมาพร้อมความเสี่ยงเป็นอันตรายต่อร่างกาย แล้วยิ่งเป็นร้านสักเถื่อนที่ใช้อุปกรณ์ไม่ได้มาตรฐานแล้วด้วย

โดย..แสงตะเกียง

การสักลวดลายบนเรือนร่างได้รับความนิยมอย่างมากโดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่น ทว่าความงดงามของศิลปะบนผิวหนังนี้มาพร้อมความเสี่ยงเป็นอันตรายต่อร่างกายเช่นกัน เพราะอาจเกิดอาการแพ้ ติดเชื้อร้ายแรง ดังนั้นผู้ที่ต้องการสักควรศึกษาข้อมูล ความปลอดภัยและอันตรายต่างๆ ให้ดีก่อนตัดสินใจ เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นตามมา

อันตรายของการสักอยู่ที่สีที่ใช้บางครั้งทำให้เกิดอาการแพ้ เป็นผื่นหรือตุ่มแดง คันในตำแหน่งของรอยสัก ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้ผื่นเห่อมากขึ้น และการสักผิวหนังยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี วัณโรค โรคเรื้อน โรคเอดส์จากการใช้เข็มในการสักผิวหนังที่ไม่สะอาด ไม่ผ่านการทำให้ปลอดเชื้อ หรือใช้เข็มร่วมกับคนอื่น

สำหรับการสักปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ เพื่อความสวยงามและตามความเชื่อ ประเพณี ซึ่งการสักประเภทนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว

ที่ผ่านมาร้านสักถือเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร เรื่องกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2554 และแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2548 อยู่ในกลุ่มกิจการที่เกี่ยวกับการบริการ ลำดับที่ 9.15 การสักผิวหนัง การเจาะหูหรือเจาะอวัยวะอื่น โดยผู้ประสงค์จะประกอบกิจการดังกล่าวจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ.2535 และแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2560 หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษตามมาตรา 17 จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ปัจจุบันมีร้านสักที่ได้รับอนุญาตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวม 50 แห่ง แบ่งเป็นพื้นที่เขตพระนครมี 17 แห่ง ส่วนที่เหลืออีก 33 แห่งกระจายอยู่ในพื้นที่อื่น พบมากในแหล่งท่องเที่ยวและพื้นที่เศรษฐกิจ ซึ่งร้านสักที่ไม่ได้ขออนุญาต ไม่มีหน้าร้าน ไม่มีหลักแหล่งทำให้การตรวจสอบทำได้ยาก

เมื่อการสักลายเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เจ้าของกิจการจะต้องยื่นขอใบอนุญาตเปิดร้านที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ต่อสำนักงานเขตที่กิจการนั้นตั้งอยู่ เมื่อยื่นขอใบอนุญาตแแล้วเจ้าหน้าที่จะเข้าตรวจสอบอุปกรณ์ตามหลักสุขอนามัย รวมถึงผู้ประกอบการจะต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามมาตรา 32 (2) พ.ร.บ.สาธารณสุข ซึ่งผู้ประกอบการต้องมีใบรองรับแพทย์ ผ่านการคัดกรองสุขภาพและไม่ป่วยเป็นโรคติดต่อร้ายแรง

แต่ขณะนี้อาชีพช่างสักเติบโตมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีร้านสักทั่วประเทศราว 5,000 ราย ส่วนในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการตั้งชมรมช่างสักเพื่อดูแลควบคุมกันเอง ทั้งที่มีและไม่มีใบอนุญาตกว่า 1,000 ราย มีการวางข้อตกลงร่วมกันเบื้องต้น คือ ห้ามสักให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี พิจารณาตำแหน่งการสัก รวมถึงลวดลายที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อและศาสนาจะต้องสักในตำแหน่งที่เหมาะสมเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) ทั้ง 50 เขต กำลังสำรวจร้านสักลายที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ หากพบต้องให้หยุดกิจการทันที และยื่นขอใบอนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมายก่อน ส่วนร้านสักลายที่ตั้งริมทางเท้าหรือมีลักษณะเป็นแผงจร สามารถบังคับใช้กฎหมายสาธารณสุขและ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ดำเนินการดูแลได้

ดังนั้นก่อนตัดสินใจสักควรตระหนักถึงความปลอดภัย ขอตรวจสอบใบอนุญาตประกอบกิจการตามร้านสัก สังเกตความสะอาดเครื่องมืออุปกรณ์ เพราะรอยสักจะอยู่บนผิวหนังไปตลอดชีวิต ยิ่งไปกว่านั้นอาจเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตได้