posttoday

ข้าราชการดิจิทัล

24 สิงหาคม 2561

ประเทศไทยจะก้าวเป็นรัฐบาลดิจิทัลตามนโยบายรัฐบาลที่ได้ตั้งเป้าจะไปให้ถึง มีเรื่องท้าทายสำคัญ 4 เรื่อง

โดย..นาย ป.

การที่ประเทศไทยจะก้าวเป็นรัฐบาลดิจิทัลตามนโยบายรัฐบาลที่ได้ตั้งเป้าจะไปให้ถึง มีเรื่องท้าทายสำคัญ 4 เรื่องด้วยกัน

เรื่องแรก คือ ตัวชี้วัดภาคราชการ หรือ Key Performance Indicator : KPI ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เพราะคงใช้ระบบเดิมของภาครัฐไม่ได้อีกแล้วที่วัดกันด้วยปริมาณมากกว่าคุณภาพ พูดให้เข้าใจง่ายๆ การวัดความดีความชอบระดับกระทรวง ทบวง กรม วัดกันตรงแต่ละหน่วยงานได้ทำโครงการไปกี่โครงการ หรือวัดระดับบุคคล วัดกันตรงว่าสถิติขาดงานขาดประชุมไปกี่ครั้ง เป็นต้น แต่หากวัดความดีความชอบกันตรงคุณภาพ คือ วัดกันที่ผลงาน หรือ Outcome ทั้งระดับหน่วยงานหรือบุคคล ต้องสร้างผลงานให้บรรลุเป้าหมายของภารกิจ จึงควรเปลี่ยนตัวชี้วัดใหม่

เรื่องที่สอง คือ การบูรณาการฐานข้อมูลเดียวกันเพื่อนำไปสู่การเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Government โดยเน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เช่น นโยบาย Paperless ต่อไปการติดต่อราชการจะเลิกใช้กระดาษ สำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน หรือใบขับขี่ ฯลฯ ทุกหน่วยงานต้องมีฐานข้อมูลเดียวกันและเชื่อมโยงกัน โดยประชาชนไม่จำเป็นต้องถ่ายสำเนามาจากบ้านเพื่อมายื่นคำร้องให้สิ้นเปลืองกระดาษ ดังนั้นอนาคตรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์เลขบัตรประชาชน 13 หลัก คือ กุญแจสำคัญในการให้ หรือรับบริการจากภาครัฐ

ดังนั้น เมื่อบัตรประชาชน 13 หลัก คือ กุญแจ ในทุกขั้นตอนการรับหรือให้บริการประชาชน หน่วยงานนั้นๆ ต้องสามารถอธิบายหรือให้คำตอบแก่ประชาชนได้ ว่าเรื่องที่ประชาชนยื่นหรือร้องไป ตอนนี้อยู่ขั้นตอนไหน เจ้าหน้าที่คนใดดำเนินการอยู่ แล้วเหตุใดถึงล่าช้า หรือจะแล้วเสร็จในกี่วัน เหมือนกับที่ประชาชนไปใช้บริการภาคเอกชน เช่น การขนส่งสินค้าของบริษัทเอกชนที่สะดวกและรวดเร็ว เพียงคีย์เลขส่งของสามารถรู้ได้เลยว่าของที่กำลังส่งอยู่ตรงไหนและจะมาถึงมือวันไหน นับเป็นตัวอย่างการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ประชาชน

ที่สำคัญเทคโนโลยียังช่วยแก้ทุจริตได้ เมื่อการขอใบอนุญาตหรืออนุมัติเข้าสู่ระบบ ประชาชนจะรู้ทันทีว่าการลงนามเอกสารเป็นตั้งๆ ที่ต้องผ่านหลายโต๊ะหรือกระทรวง ทบวง กรม หรือแค่หน่วยเดียวมีหลายเจ้าหน้าที่รับผิดชอบ ย่อมต้องลดลงหรือเลิกได้แล้ว ที่สำคัญระบบใหม่ต้องดำเนินการได้เพียงคลิกเดียวสามารถรู้ได้ทันทีว่าเรื่องที่ขออนุญาตหรือรออนุมัติได้ดำเนินการไปถึงไหนอย่างไร แน่นอนการดองเรื่องเพื่อเรียกรับเงินใต้โต๊ะย่อมเป็นไปได้ยาก นั่นแหละถึงเรียกว่ารัฐบาลดิจิทัล

เรื่องสุดท้ายความท้าทายในการเข้าสู่รัฐบาลดิจิทัล คือ การเตรียมความพร้อมไปสู่สังคมผู้สูงอายุของบรรดาข้าราชการที่กำลังเกษียณ เพราะชีวิตหลังเกษียณไม่อาจจะนั่งกินนอนกินบำเหน็จหรือบำนาญได้อีกแล้ว เพราะมูลค่าเงินจะลดลงเงินที่เก็บสะสมไม่พอใช้ไม่พอกิน ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ร่างกายเสื่อมถอยย่อมต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น แล้วจะหาเงินจากไหนถ้าไม่ทำงานหลังเกษียณ

แต่เรื่องใหญ่กว่านั้น คือ แม้เกษียณอายุราชการไปแล้วแต่หนี้สินข้าราชการยังกองท่วมหัวอยู่แล้วแบบนี้ชีวิตบั้นปลายจะอยู่กันอย่างไร ยิ่งยุคสังคมผู้สูงอายุคนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ก่อหนี้เร็ว แต่กลับมีลูกช้า พ่อแม่เกษียณไปแล้วแต่ลูกยังเรียนไม่จบและทำงานไม่ได้ ต้องพึ่งพาพ่อแม่ที่แก่เฒ่าอยู่ นี่แหละคือปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่จะเจอในยุครัฐบาลดิจิทัล

ยิ่งเมื่อเทคโนโลยีเข้ามาแทนคนงานบางประเภทไม่จำเป็นต้องใช้คนอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือคนทั่วไปการจะหางานทำหลังเกษียณไปแล้วคงยากลำบากสิ้นดีแล้วแบบนี้จะอยู่กันอย่างไร