posttoday

จุดสลบเศรษฐกิจตุรกี

14 สิงหาคม 2561

ในยามนี้ โลกกำลังผวากับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในประเทศตุรกี ที่อาจลามส่งผลลบมากขึ้นไปเรื่อยๆ

โดย..ณ กาฬ เลาหะวิไลย

วิกฤตต้มยำกุ้ง เป็นสิ่งที่โลกขนานนามให้ไทยในปี 2540 ที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจ จนลามไปทั่วโลก

ในยามนี้ โลกกำลังผวากับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในประเทศตุรกี ที่อาจลามส่งผลลบมากขึ้นไปเรื่อยๆ

ผู้ที่จุดชนวนครั้งนี้คือ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งประเทศสหรัฐ ที่ขู่จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียม

เหตุผลก็มาจากการเมืองที่ 2 ชาติไม่ค่อยลงรอย นับตั้งแต่วิกฤตในซีเรีย ที่ยืนคนละฟาก ปมที่ตุรกีสั่งซื้ออาวุธจากรัสเซีย และการปฏิวัติคุดในตุรกีที่มีการจับบาทหลวงสัญชาติอเมริกัน

แต่ไม่ว่าทั้งหมดจะเกิดจากเรื่องใด ผลจากการขึ้นภาษีของอเมริกาคือการทำลายล้างเศรษฐกิจของตุรกี

ค่าเงินลีราของตุรกีหล่นฮวบ 17% ภายในวันเดียว

หรือหากนับตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ค่าเงินลีราอ่อนตัวลงถึง 30%

ทั้งหมดเป็นการจี้เข้าไปยังจุดสลบเศรษฐกิจของตุรกี

ที่ผ่านมาตุรกีมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดอันดับต้นๆ ของโลก โดยในปี 2560 ขยายตัวถึง 7.4% ซึ่งเป็นอัตราที่มากที่สุดในโลก

ไตรมาส 2 ของปีนี้ เศรษฐกิจตุรกีเติบโตขึ้นได้ถึง 7.22% แซงหน้าจีนและอินเดีย

แต่การเติบโตดังกล่าวมาจากหนี้สิน การกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ โดยเฉพาะหนี้เงินดอลลาร์สหรัฐ

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ-ไอเอ็มเอฟ เคยออกมาเตือนว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของตุรกีอาจควบคุมได้ยาก เพราะขาดความสมดุลจาก อัตราเงินเฟ้อสูง ค่าเงินไม่มีเสถียรภาพ และสัดส่วนหนี้สินต่างประเทศ โดยเฉพาะหนี้ระยะสั้นต่อทุนสำรอง

ตุรกีจึงเป็นประเทศขาดดุลแฝด คือทั้งขาดดุลงบประมาณ และขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

และการที่ตุรกีพึ่งพาเงินทุนระยะสั้นต่างประเทศ เพื่อมาใช้สำหรับการลงทุนด้านเศรษฐกิจ ที่ส่วนใหญ่เป็นโครงการระยะยาว จึงกลายเป็นประเด็นที่น่าห่วง

ถ้าค่าเงินอ่อนตัวลงไปเท่าใด ภาระหนี้สินของตุรกีก็จะเพิ่มเป็นเงาตามตัวไปเท่านั้น เนื่องจากต้องใช้เงินลีรามากขึ้นในการไปซื้อเงินดอลลาร์มาจ่ายหนี้

ยิ่งเฉพาะถ้าประชาชน ธุรกิจ ไม่มั่นใจค่าเงิน ผสมกับกองทุนต่างๆ เทขายเงินลีราออกไป เก็บเงินดอลลาร์เอาไว้ในมือ ก็จะยิ่งทำให้ทุกอย่างยากขึ้น

วิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 เกิดในสภาพนี้ คือปัญหาหนี้ โดยเฉพาะการกู้ระยะสั้นมาใช้โครงการระยะยาว รวมไปถึงทุนสำรองที่ไม่เพียงพอต่อภาระหนี้ต่างประเทศ

ทางเลือกของตุรกีมีไม่มากนัก

อาทิ ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เจ้าหนี้ต่ออายุหนี้ให้

หรือต้องขึ้นดอกเบี้ย และใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อดึงดูดเงินตราต่างประเทศ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยเศรษฐกิจที่จะซบเซา ถึงขั้นหัวปัก

หรือไม่ก็ต้องกู้ยืมเงินตราต่างประเทศ มาทดแทนเงินกู้ที่ใกล้หมดอายุ

แค่เห็นก็เหนื่อยแทน...ศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก