posttoday

พูดให้หมด

10 กรกฎาคม 2561

ปัญหาการบริหาร “หอศิลป์” ที่กรุงเทพมหานคร จะขอนำกลับมาดูแลเอง จากเดิม “มูลนิธิหอศิลป์กรุงเทพฯ” บริหารอยู่ในขณะนี้ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ​์วิจารณ์จากสังคมโซเชียลอย่างดุเดือด

โดย...แสงตะเกียง

ปัญหาการบริหาร “หอศิลป์” ที่กรุงเทพมหานคร จะขอนำกลับมาดูแลเอง จากเดิม “มูลนิธิหอศิลป์กรุงเทพฯ” บริหารอยู่ในขณะนี้ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ​์วิจารณ์จากสังคมโซเชียลอย่างดุเดือด

แม้ว่าสุดท้าย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ยอมพักรบและยืนยันว่า กทม.ไม่เข้าไปบริหารจัดการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยจะรอจนกว่าสัญญาที่ กทม.มีต่อมูลนิธิฯ สิ้นสุดลงในปี 2564 เพราะแรงต้านจากเครือข่ายศิลปินและภาคประชาชนสังคมศิลปวัฒนธรรม ที่เข้ามายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ระงับไม่ให้ กทม.เข้ามาบริหาร กระทั่งนายกฯ เกรงจะเกิดม็อบบานปลายในช่วงเวลาเช่นนี้ จึงตัดสินใจขอให้ผู้ว่าฯ กทม. พิจารณาตามเสียงประชาชนก่อน

ทว่าการเบรกที่เกิดขึ้น ยังคงทิ้งปมปัญหาไว้ใต้พรมและรอวันปะทุขึ้นมาอีก

มาพิจารณาเหตุผลทางฝั่งของมูลนิธิฯ ระบุว่า ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่มูลนิธิฯ บริหารหอศิลป์ มีกิจกรรมจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการและแสดงศิลปะกว่า 100 ครั้ง/ปี ยอดจำนวนผู้เข้าชมมากกว่าปีละ 1 หมื่นคน ทั้งยังจัดหางบประมาณจัดกิจกรรมได้เองนอกเหนือจากที่ กทม.ให้งบอุดหนุนปีละ 40 ล้านบาท ดังนั้นไม่มีคำว่าขาดทุนแน่นอน ตรงกันข้ามมีรายได้เพียงพอ

สำหรับงบประมาณการบริหารจัดการหอศิลป์คิดเป็น 53% มาจากเงินสนับสนุนจาก กทม. ส่วนที่เหลือจัดหามาเองจากการรับบริจาคเป็นเงิน 40 ล้านบาท รวมแล้วแต่ละปีหอศิลป์ใช้เงินราว 80 ล้านบาท ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเทียบการสนับสนุนจากภาครัฐในประเทศอื่นถือว่าน้อยมาก เช่น สิงคโปร์ สนับสนุนงานหอศิลป์เมืองปีละ 63% ขณะที่ กทม.มีงบประมาณกว่า 7 หมื่นล้านบาท ถือเป็นเงินงบประมาณที่เจียดมาให้หอศิลป์แค่ 0.05% เท่านั้น

มาทางฝั่งสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กทม. กันบ้าง ปรากฏว่ากลายเป็นคนละเรื่อง

เพราะเมื่อดูรายรับประจำปีพบว่าทางหอศิลป์ได้รับเงินจากหลายส่วน ทั้งจากเงินบริจาคและเงินสนับสนุนของ กทม. โดยให้เหตุผลระบุการขอเงินมาว่า “หอศิลป์ขาดทุน” ดังนั้นจึงเสนอเรื่องขอเงิน กทม.ปีละ 70 ล้านบาท แต่เมื่อผ่านกระบวนการพิจารณาของสภา กทม. แล้วมีมติให้เงินสนับสนุนปีละ 40 ล้านบาท เป็นเช่นนี้มาตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งหอศิลป์ชี้แจงรายจ่ายปีละประมาณ 70-80 ล้านบาท ส่วนหนึ่งมูลนิธิฯ หามาเอง 30 ล้านบาท เมื่อรวมกับเงินสนับสนุนของ กทม. อีก 40 ล้านบาท ผู้บริหารหอศิลป์จึงสรุปว่ามีรายรับเพียงพอต่อรายจ่าย และยังเหลือเงินอีกเล็กน้อยจะขอเก็บไว้เอง ดังนั้นถ้า กทม.ไม่ให้เงินสนับสนุนอีก แสดงว่าหอศิลป์จะขาดทุนทันที

เมื่อลงลึกในสัญญาพบว่า ตามหลักแล้ว กทม.มีหน้าที่ให้เงินสนับสนุนในช่วง 5 ปีแรกของการก่อตั้งเท่านั้น และเมื่อหอศิลป์ตั้งตัวได้แล้ว กทม.ไม่จำเป็นต้องให้เงินอีก เพื่อที่จะจัดสรรเงินจำนวนนี้ไปใช้บริหารจัดการบ้านเมืองในเรื่องอื่นๆ ต่อไป ยิ่งถ้าหอศิลป์ได้กำไรต้องคืนเงินทุกบาททุกสตางค์มาให้ กทม.อีกด้วย แต่ที่ผ่านมาทางมูลนิธิฯ แจ้งว่ากำไรหรือเงินที่เหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วขอเก็บไว้เอง ทำให้ตลอดมาที่ประชุมสภา กทม. ทุกยุคทุกสมัยอนุญาตให้มูลนิธิฯ เก็บเงินไว้เอง ถือว่าค้ำจุนกันไป

ท้ายที่สุดประชาชนเห็นแล้วว่าหอศิลป์ยังอยู่ในการดูแลของมูลนิธิฯ ดังนั้นเมื่อนั่งฟังศิลปินชี้แจงการบริหารเงินแล้วคงต้องบอกว่า “พูดให้หมด” แล้วสังคมจะช่วยหาทางออกที่ชัดเจนกว่านี้