posttoday

สูญเปล่า

12 ตุลาคม 2560

สังคมปัจจุบันหมดความสงสัยเรื่องพลังของโลกออนไลน์ เพราะทุกคนได้ประจักษ์แล้วว่า หลายต่อหลายครั้ง

โดย...นายมะกะโรนี

สังคมปัจจุบันหมดความสงสัยเรื่องพลังของโลกออนไลน์ เพราะทุกคนได้ประจักษ์แล้วว่า หลายต่อหลายครั้ง ความเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์สร้างกระแสได้ครอบคลุมกว่าที่สื่อชนิดใดเคยทำได้

แต่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า บ่อยครั้งที่โลกออนไลน์กลายเป็นตัวร้ายที่มีอานุภาพในการทำร้ายทำลายสังคม อย่างชนิดที่ไม่เคยมีนักทำลายรายใดในประวัติศาสตร์เคยทำได้

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2552 อุมแบร์โต เอโค นักเขียน นักสัญศาสตร์ชื่อดังชาวอิตาลี เคยเขียนบทความชำแหละแง่มุมหนึ่งของโลกออนไลน์ไว้อย่างน่าสนใจ

เขาเล่าว่า บริษัท แมคอาฟี เคยลงทุนทำงานวิจัยแล้วพบว่า สแปม หรือข้อมูลขยะที่ไม่พึงประสงค์ที่ถูกส่งมาถึงเราในแต่ละวันนั้น เผาผลาญพลังงานไปเป็นจำนวนมหาศาล อีเมลฉบับเดียวก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 0.3 กรัม เท่ากับจำนวนที่รถยนต์ปล่อยทุกระยะ 1 เมตร

ความสูญเปล่านี้นับเป็นนัยสำคัญที่โลกยุคต่อมามิได้เฉลียวใจเลยว่า จะเกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่อโลกออนไลน์จะกลายเป็นเรื่องสามัญสำหรับทุกครัวเรือนในอีกไม่กี่ปีต่อมา

กลับมาในยุคที่เฟซบุ๊กสยายปีกทั่วทุกมุมโลก ใครจะเชื่อว่าสังคมออนไลน์ซึ่งยังเป็นกระแสหลักที่อยู่มาได้ข้ามทศวรรษ (ก่อตั้งเมื่อปี 2547) เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก เคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาไม่คิดว่าจะมีใครไร้เดียงสาพอที่จะเห็นว่าสิ่งที่อยู่ในเฟซบุ๊กเป็นเรื่องจริงจัง

แน่นอนว่า กรณีนี้ใครๆ ก็รู้ดีว่า เฟซบุ๊กในปัจจุบันนั้นผิดไปจากที่ ซัคเกอร์เบิร์ก เคยว่าไว้อย่างลิบลับ เพราะนอกจากสิ่งที่ปรากฏในสังคมออนไลน์ของเขาจะถูกให้ความสำคัญอย่างจริงจังแล้ว มันยังกลาย เป็นเครื่องมือสร้างกระแส หลายต่อหลายครั้งที่เรื่องไม่เป็นเรื่องกลายเป็นกระแสโด่งดัง

ไม่นานมานี้ The Telegraph นำเสนอข่าว โดยเล่าว่า ซัคเกอร์เบิร์ก ได้ใช้โอกาสเนื่องในวัน "Yom Kippur" ซึ่งเป็นวันสำคัญทางศาสนาของชาวยิว สารภาพบาปและขอผู้ใช้งานเฟซบุ๊กทั่วโลกให้อภัยกับเขา

"ผมขอให้ทุกคนให้อภัยกับสิ่งที่ผมมีส่วนทำลงไป เนื่องด้วยงานของผมได้สร้างความแตกแยกมากกว่าที่จะดึงทุกคนมาอยู่ด้วยกันได้ ผมจะแก้ปัญหานี้ให้มันดีขึ้น" ซัคเกอร์เบิร์ก กล่าว

แม้จะไม่ได้ระบุชัดว่าสิ่งที่เขาบอกหมายถึงอะไรแน่ แต่คาดการณ์ได้หมายถึงผลพวงที่เฟซบุ๊กก่อขึ้น ทั้งเรื่อง ข่าวลือ ข่าวกุ ทัศนะเสียดสีชิงชัง ที่สร้างรอยร้าวจนที่สุดก็แตกเป็นฝ่าย

หลายประเทศเริ่มให้ความสำคัญกับการควบคุมการใช้โลกออนไลน์ในทางที่ผิดด้วยยาแรง

ไม่นานมานี้เช่นกัน รัฐสภาเยอรมนีผ่านกฎหมายฉบับใหม่ที่ชื่อว่า Netzwerkdurchsetzungsgesetz หรือ Network Enforcement Act เพื่อใช้จัดการกับสื่อโซเชียลมีเดียที่ไม่ยอมลบข้อความ Hate Speech หรืออะไรก็ตามที่ผิดกฎหมายเยอรมนี หลังได้รับแจ้งภายใน 24 ชม.

โทษปรับของสื่อไม่ว่าจะเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือยูทูบ ที่ไม่ยอมลบข้อความ Hate Speech ภายในระยะเวลาดังกล่าวมีโทษปรับขั้นต่ำ 5 ล้านยูโร และสูงสุดถึง 50 ล้านยูโร

สุดท้ายเมื่อทราบว่า อีเมลฉบับเดียวก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 0.3 กรัม อดคิดไม่ได้ว่า บรรดา Hate Speech และสารพัดข้อความ หรือบรรดาความเห็นไม่สร้างสรรค์นั้นสร้างผลกระทบแค่ไหนกัน