posttoday

อั๊ยย่ะแล้วแต่แม้ว

21 กันยายน 2560

นักการเมืองระริกระรี้ขึ้นมาทีเดียว เมื่อนายกฯ ลุงตู่ บอกว่าจะมีการเลือกตั้งในปีหน้า หรือปี 2561

โดย...สันทัด กรณี

นักการเมืองระริกระรี้ขึ้นมาทีเดียว เมื่อนายกฯ ลุงตู่ บอกว่าจะมีการเลือกตั้งในปีหน้า หรือปี 2561

คงด้วยโพลหลายสำนักช่วงนี้เปิดผลสำรวจออกมาว่า ประชาชนต้องการเห็นการเลือกตั้งในปีหน้า และอยากทราบกำหนดที่แน่นอนท่านนายกฯ ลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. จึงหยิบยกเรื่องนี้มากล่าวในรายการศาสตร์พระราชาฯเมื่อวันที่ 15 ก.ย. บอกถึงกำหนดการเลือกตั้งยังวางกำหนดการไว้ที่ปีหน้า

“เมื่อทุกอย่างลงตัว กระบวนการด้านกฎหมายมีความพร้อมทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ มีความปรองดอง ก็จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้า”

ครับ...ดูอย่างไรก็เป็นการพูดเชิงหลักการ ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น เป็นสัญญาที่ไม่ได้สัญญา เป็นแค่บอกพูดซ้ำตามโรดแมปของรัฐบาลที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งผูกติดกับเงื่อนไข

พอดีมีการสำรวจหนึ่งที่น่าสนใจ “อีสานโพล” ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เรื่อง “คนอีสานกับโรดแมปการเลือกตั้ง” โดยทำการสำรวจความเห็นคนอีสานใน 20 จังหวัด

ถามว่า ใครเหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปมากที่สุด พบว่า อันดับหนึ่ง ร้อยละ 39.3 เห็นว่าผู้นำพรรคเพื่อไทยเหมาะสมที่สุด รองลงมาร้อยละ 22.4 เป็นคนนอกวงการที่ทุกฝ่ายยอมรับ ขณะที่ร้อยละ 14.1 เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. และร้อยละ 7.7 เห็นว่าผู้นำพรรคประชาธิปัตย์

ถามว่า บุคคลที่เหมาะสมเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้า ชาวอีสานร้อยละ 68.4 เห็นว่าอันดับหนึ่ง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ขณะที่ร้อยละ 56.1 เห็นว่า นายจาตุรนต์ฉายแสง ตามมาด้วย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ร้อยละ 52.6 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ร้อยละ 34.2

ครับ...เป็นผลสำรวจที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือ ผลสำรวจนี้ชี้ว่า ต่อให้เอาเสาไฟฟ้ามาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย คนอีสานส่วนใหญ่ก็อยากให้เสาไฟฟ้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ มากกว่าที่จะยังคงเป็น พล.อ.ประยุทธ์

นั่นแสดงถึงความมีอิทธิพลของ คุณทักษิณ ชินวัตร ต่อคนอีสาน เพราะโดยพฤตินัยทักษิณคือคนเลือกหัวหน้าพรรคเพื่อไทยจริงป่ะ!

ดังนั้นในส่วนคำถามที่ว่า ใครเหมาะสมเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยที่ออกมาว่าใจอยากได้คุณหญิงหน่อยนั้น จึงเป็นสิ่งที่ไม่มีน้ำหนัก

ผลสำรวจความเห็นอีสานข้างต้น จะเชื่อถือได้ในระดับไหน?

ประการนี้ผมไม่ทราบ แต่ไม่สามารถมองข้าม

ครับกลับมาที่ประโยค “เมื่อทุกอย่างลงตัว กระบวนการด้านกฎหมายมีความพร้อม ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ มีความปรองดอง ก็จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้า”

อ่านอีกรอบ...ต่อให้มองข้ามกระบวนการคลอดกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เหลือ 2 ฉบับว่า สนช.ไม่มีการ “ดึงเช็ง” ก็มาสะดุด กับคำว่า “ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ” “มีความปรองดอง”

ไม่อยากเดาว่า นายกฯ ลุงตู่ ให้คำนิยามของ 2 ประโยคนี้อย่างไร?

ฟันธงได้แค่ ไม่มีการยืนยันว่าการเลือกตั้งจะเกิดในปีหน้า