posttoday

EIA กับ ม.77

23 กรกฎาคม 2560

ในรัฐธรรมนูญเกิดมิติใหม่เกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นประชาชน ที่กำหนดไว้ในมาตรา 77 สาระสำคัญ คือ

โดย...นาย ป.

ในรัฐธรรมนูญเกิดมิติใหม่เกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นประชาชน ที่กำหนดไว้ในมาตรา 77 สาระสำคัญ คือ การออกกฎหมายต้องเป็นไปเท่าที่จำเป็น และต้องดำเนินการสองอย่าง คือ การรับฟังความเห็น และต้องประเมินผลกระทบทุกมิติ อาจกล่าวได้ว่าคล้ายๆ กับการประเมินผลกระทบด้านกฎหมาย หรืออีไอเอทางกฎหมายนั่นเอง เพราะเดิมการออกกฎหมาย จะถูกนำเสนอโดยหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวง ทบวง กรม หรือ โดยรัฐสภา

สำหรับการตรวจสอบหรือประเมินผลกระทบทางกฎหมายยังไม่มีความชัดเจนว่าเป็นหน่วยงานใด แต่ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นหน่วยงานหนึ่งที่พยายามทำหน้าที่ตรงนี้ ว่ากฎหมายแต่ละฉบับที่ออกไปแล้วไปสร้างผลกระทบอย่างไรบ้าง

แต่นับจากนี้ไป การออกกฎหมายสักฉบับต้องมีการจัดทำรายงานหรืองานวิชาการมารองรับ เพื่อนำไปสู่การประเมินความคุ้มค่าทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง หรือสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ดังนั้นต่อจากนี้ไปกฎหมายทุกฉบับต้องมีการรับฟังความเห็น หรือรายงานการประเมินผลกระทบต่างๆ ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ แต่ดูเหมือนว่าที่ผ่านมารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกกฎหมายต่างๆ ไม่ได้ทำกระบวนการตามมาตรา 77 อย่างจริงจัง หรือทำอย่างเป็นขั้นตอนมากนัก จนถูกมองว่าทำแค่ “พิธีกรรม” ซึ่งจริงๆ แล้วการรับฟังความคิดเห็น ควรมีการกำหนดนิยาม หรือแนวปฏิบัติให้ชัดเจน เช่น การรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ เป็นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นด้วยหรือไม่

อย่างที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า การรับฟังความเห็นไม่ได้เป็นเรื่องยากเข้าเว็บไซต์ก็พอแล้ว ขณะที่การรับฟังความคิดเห็นต้องเปิดเผยต่อสาธารณะคนละอย่างกับการใช้กระบวนการทางเว็บไซต์ ซึ่งทางรัฐบาลอาจจะอ้างก็ได้ว่ามาตรา 77 อาจจะทำก็ได้หรือไม่ทำก็ได้

แต่ในมุมมองของภาคประชาชน มีการเรียกร้องให้มีการรับฟังความคิดเห็นกฎหมายทุกฉบับ ถ้ากฎหมายฉบับใดไม่ดำเนินการตามขั้นตอนมาตรา 77 เท่ากับว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ หรือละเมิดรัฐธรรมนูญ นี้คือประเด็นสำคัญในการออกกฎหมาย เพราะเป้าหมายของมาตรา 77 ต้องการเปิดทางการมีส่วนร่วมของประชาชน

ที่สำคัญในการประเมินผลกระทบในการออกกฎหมายต่อไป ควรมีหน่วยงานที่น่าเชื่อถือเพื่อเข้ามาทำอีไอเอทางกฎหมายด้วยหรือไม่ กล่าวคือ ตั้งหน่วยงานขึ้นมาประเมินการออกกฎหมาย ภายใน 6 เดือน 1 ปี หรือ 5 ปี เพื่อนำไปสู่การโละทิ้งกฎหมายที่ล้าสมัย หรือปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น เพราะทิศทางอนาคตจะเป็นแบบนี้ ที่สำคัญอาจเกิดข้อพิพาทฟ้องร้องในศาลรัฐธรรมนูญตามมาแน่นอน

เรื่องที่น่าสนใจ คือ หากภาครัฐจะออกกฎหมายต้องเป็นกฎหมายที่จำเป็น ง่ายต่อการเข้าใจ และกฎหมายใดล้าสมัย ต้องยกเลิก พร้อมกับต้องประเมินผลการบังคับใช้กฎหมายนั้นเป็นระยะๆ เนื้อหาสำคัญที่สุด คือ ในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่จะต้องดำเนินการต้องทำ และในรัฐธรรมนูญฉบับนี้บุคคลสามารถเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องผ่านหน่วยงานใด เช่น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อัยการ ศาล เป็นต้น

แต่หากพบว่ามีเรื่องใดขัดรัฐธรรมนูญสามารถยื่นเรื่องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ดังนั้นการประเมินผลกระทบทางกฎหมายถือเป็นอาวุธสำคัญของภาคประชาชน กล่าวคือ เมื่อมีข้อเสนอแนะต่อฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายการเมือง จะต้องทำ แต่นิ่งเฉยไม่ดำเนินการใดๆ อาจถูกฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ