posttoday

คนดี

21 มิถุนายน 2560

ขณะนี้สถานการณ์ในบ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงและเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

โดย...ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขานุการกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

ขณะนี้สถานการณ์ในบ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงและเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กระผมในฐานะที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ คนที่ 1 ผมขอเรียนชี้แจงข้อวิพากษ์เกี่ยวกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญด้วยความเคารพดังนี้

ในตอนที่ทำร่างรัฐธรรมนูญนั้น คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไม่ได้เอาใครคนใดคนหนึ่งหรือพวกใดพวกหนึ่งเป็นตัวตั้งเราจึงไม่ได้สนใจว่า “ใคร” จะมีอำนาจ คงสนใจแต่เพียงว่าคนที่จะเข้ามาเป็นผู้ใช้อำนาจนั้นต้องเป็น “คนดี”

คำว่า “คนดี” ในที่นี้มีความหมายทั่วไป คือ เป็นคนที่รู้จักผิดชอบชั่วดี มีความละอายต่อบาป ซื่อสัตย์ สุจริต เปิดเผย ตรงไปตรงมา และที่สำคัญคือมีความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อครอบครัว ต่อชุมชน ต่อสังคม และต่อประเทศชาติไม่ทุจริต

หากท่านได้อ่านรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับ ไม่ได้อ่านแบบจับเป็นตอนเป็นมาตรา ท่านจะพบ “ความมุ่งหมาย” ดังกล่าวได้อย่างชัดเจน เพราะคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเขียนไว้ในหลายที่หลายแห่ง
จนหลายท่านค่อนขอดว่าเขียนซ้ำไปซ้ำมา

แต่นั่นเป็นความมุ่งมั่นตั้งใจของ กรธ.ที่จะทำให้จิตวิญญาณดังกล่าวปรากฏอยู่ในหลายที่หลายแห่งซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการตีความเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ในฐานะที่ประกอบอาชีพด้านการร่างกฎหมายด้วย ขอเรียนว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นไม่ต่างจากการยกร่างกฎหมายอื่น ผู้ร่างต้องมีจิตใจสะอาด สว่าง และสงบ เพราะรัฐธรรมนูญและกฎหมายเป็นสิ่งที่ใช้บังคับกับคนทุกคนในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช้อคติหรือมายาคติส่วนตนมาเป็นหลักในการยกร่างรัฐธรรมนูญ

หากมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึง แล้วนำความคิดเห็นทั้งหลายทั้งมวลมาประกอบการพิจารณาอย่างรอบคอบรอบด้าน ว่าเรื่องใดจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและปวงชนชาวไทยมากที่สุด แล้วจึงยกร่างเป็นตัวบทกฎหมายขึ้นมา

การร่างรัฐธรรมนูญในครานี้จึงไม่ใช่ผลผลิตแบบ “ลอกของเก่า”ไม่ใช่ผลผลิตแบบ “การลอกรัฐธรรมนูญต่างประเทศ” หากเป็นผลผลิตของการคิดวิเคราะห์ถึงบริบทของสังคมไทยที่อยู่ภายใต้บริบทของโลกที่มีพลวัตหรือมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ความสนใจทั้งหมดทั้งมวลของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จึงอยู่ที่ “ความมั่นคง ความยั่งยืน และความอยู่ดีมีสุขของพี่น้องประชาชนในทุกมิติ” หาใช่วงเวียนแห่งอำนาจอย่างที่หลายท่านเข้าใจแต่ประการใดไม่

ในเรื่องนั้น กรธ.คิดแต่เพียงว่าทำอย่างไรจึงจะให้คนดีได้เข้ามาใช้อำนาจบริหารแผ่นดินดังกล่าวข้างต้น จะกำหนดกลไกอย่างไรเพื่อให้การแก้ไขปัญหาทางการเมืองเป็นไปตามกลไกของรัฐสภามีเหตุผล และเปิดเผย และจะกำหนดกระบวนการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจอย่างไรจึงจะเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย

น่าเสียดายที่การเมืองมุ่งแข่งขันกันเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในทางการเมือง การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเมืองจึงมีความมุ่งหมายเพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมือง

ไม่ได้สนใจว่าหากได้อำนาจทางการเมืองกันไปแล้ว “ท่านจะทำอย่างไรให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ”