posttoday

เลิกหว่านแห

08 มิถุนายน 2560

ปัญหาใหญ่และร้อนๆ ทางสังคมที่รัฐบาลเป็นห่วงไม่แพ้ปัญหาเศรษฐกิจคือ ปัญหาสังคมประเด็นเบี้ยผู้สูงอายุ เป็นปัญหาใหญ่เอามากๆ

โดย...นายป.

ปัญหาใหญ่และร้อนๆ ทางสังคมที่รัฐบาลเป็นห่วงไม่แพ้ปัญหาเศรษฐกิจคือ ปัญหาสังคมประเด็นเบี้ยผู้สูงอายุ เป็นปัญหาใหญ่เอามากๆ เพราะเงินในท้องพระคลังดูท่าแนวโน้มในอนาคตจะไม่พอแจกผู้สูงอายุกว่าสิบล้านคน

นับวันตัวเลขผู้สูงอายุจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และปัญหาจริงๆ ของผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มที่มีสถานะยากจนจริงๆ ราว 3-4 ล้านคน เป็นคนแก่ที่ต้องกัดก้อนเกลือกินอยู่กันอย่างยากลำบากทั้งในสังคมเมือง หรือชนบท เพราะถูกทอดทิ้งไม่ได้รับการช่วยเหลือในทุกๆ ด้านจากภาครัฐและครอบครัว

ระบบแจกเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุ ปัจจุบันที่แจกกันอยู่เป็นแบบ “หว่านแห” ผู้สูงอายุคนใดอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป มีสิทธิจะได้รับเงินทันทีไปตลอดชีวิต เริ่มต้นเงินที่จะได้รับ 600 บาท แต่ถ้าอายุ 70-80 ปี จะได้เพิ่มขึ้นอีก 100 บาท ตามขั้นบันได

หลักคิดง่ายๆ ในเกณฑ์เรื่องอายุเพื่อจ่ายเบี้ยยังชีพ นับวันชักจะไม่เข้าท่าและเท่าทันกับสถานการณ์เศรษฐกิจอันฝืดเคือง ดังนั้นหลักการกระจายรายได้ เพื่อการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมกับเงินภาครัฐที่จ่ายไป จึงสูญเปล่าหรือไม่ ที่ไม่ได้แก้ปัญหาตรงจุดจริงๆ

จึงเป็นเหตุผลสำคัญให้รัฐบาล “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทบทวน โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังกลับไปคิดใหม่ อย่าคิดแต่จะเพิ่มเบี้ย แต่ต้องหาแหล่งเงินมาด้วย

ทั่นผู้นำจึงบังเกิดไอเดียว่า เป็นไปได้ไหม จะให้เปิด “กองทุนผู้สูงอายุ” ประกาศให้ผู้สูงอายุที่มีกินมีใช้มาลงชื่อสละสิทธิไม่รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ตัวเองได้รับอยู่เป็นรายเดือน

ถ้าทำอย่างนั้นได้จะเปิดโอกาสให้คนสูงอายุที่มีรายได้สูงได้สละสิทธิไม่รับเงิน โดยความสมัครใจ แล้วนำเงินตรงนั้นเข้ามากองอยู่ในกองทุน เพื่อเอาไปให้แจกคนแก่ที่ลำบากกว่า ถ้าทำแบบนี้ได้จะมีเงินเพิ่มขึ้นอย่างมาก และอาจจะมีมากที่จะแจกคนแก่ที่จนได้คนละ 1,500 หรือ 3,000 บาท/เดือน ย่อมทำได้ด้วยซ้ำไป

ปัญหาสังคมเรื่องสังคมสูงวัย แท้จริงๆ มีด้วยกัน 3 ปัจจัย คือ หนึ่ง ถูกบุตรหลาน หรือญาติพี่น้องทอดทิ้งไม่เหลียวแล สอง ไม่มีเงินเก็บไว้ใช้จ่ายในช่วงท้ายชีวิตและขาดโอกาสในการประกอบอาชีพเพื่อประทั่งชีวิต และสาม โรคร้ายแรงรุมเร้า ซึ่งต้องใช้เงินเพื่อมาเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงมากๆ

ดังนั้น ควรนำมาเป็นหลักเกณฑ์ใหม่ที่ผู้สูงอายุควรจะได้รับเบี้ยยังชีพ หรือควรเลิกแจกเบี้ยยังชีพแบบหว่านแห ที่ยังยึดเกณฑ์อายุแบบเดิมๆ เพราะถ้าไปพิจารณาข้อมูลลึกๆ กันให้ดี คนแก่ที่อยู่อย่างมีความสุขโดยไม่เป็นภาระสังคม ส่วนใหญ่ลูกหลานมีอาชีพและฐานมั่นคงในการดำรงชีวิต มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสามารถดูแลพ่อแม่ในยามแก่เฒ่าได้ แม้จะมีกลุ่มคนแก่บางกลุ่มอาจเป็นโสดก็จริง แต่กลับมีเงินเก็บ มีทรัพย์สิน หรือมรดก เช่น บ้านไม่ต้องเช่า มีญาติพี่น้องคอยดูแลทั้งยังมีเงินเหลือเฝือและทำหลักประกันสุขภาพ เป็นต้น

แต่คนแก่ที่ไม่มีองค์ประกอบดังกล่าวที่ว่ามา ส่วนใหญ่ชีวิตในช่วงบั้นปลายเหมือนเรืออับปางรอวันจมดิ่งลงกลางทะเลลึก

ถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่รัฐบาลควรนับหนึ่งใหม่ในการจดทะเบียนช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ควรจะได้รับเบี้ยยังชีพจริงๆ ใหม่ การแก้ปัญหาสังคมจะได้แจกเบี้ยยังชีพตรงคนแก่ที่จนและลำบากจริงๆ แก้ปัญหาสังคมได้ตรงจุดเสียที!