posttoday

หยาดเหงื่อและน้ำตา

26 เมษายน 2560

ในแวดวงการส่งออก มักมีข่าวไทยจะโดนตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี)

โดย...ณ กาฬ เลาหะวิไลย

ในแวดวงการส่งออก มักมีข่าวไทยจะโดนตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) จากประเทศนั้นบ้าง ประเทศนี้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นจากสหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) หรือกระทั่งญี่ปุ่น และต้องมานั่งประเมินผลกระทบจากการถูกตัดจีเอสพี

และจะว่าไปแล้ว ตราบใดที่เรายังพึ่งพาจีเอสพี ยังห่วงกันเรื่องการโดนตัดสิทธิพิเศษนี้ รับรองไปไม่ถึงไหน

เพราะการพึ่งจีเอสพี หมายถึงการส่งออกสินค้าต้องอาศัยราคาเป็นตัวชี้ขาด ไม่ใช่เนื่องจากคุณภาพ การออกแบบ หรือการเพิ่มมูลค่าสินค้า

เราจึงจมปลักกับหยาดเหงื่อและน้ำตา แทนที่จะอยู่กับการยกระดับพัฒนาสติปัญญา ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างที่ควรจะเป็น

สิทธิจีเอสพี คือ การที่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจให้กับประเทศคู่ค้า สินค้าภายใต้สิทธิจีเอสพีจะได้รับการลดหย่อนภาษีต่ำกว่าปกติ

จุดกำหนดของจีเอสพี มาจากประเด็นทางการเมืองล้วนๆ โดยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศที่เป็นต้นกำเนิดการให้สิทธิจีเอสพี ก็คือ สหรัฐ

เพราะหลังสงครามโลก ขณะนั้นการเมืองโลกแบ่งเป็น 2 ขั้ว คือ โลกเสรี กับสังคมนิยมคอมมิวนิสต์

สหรัฐที่ชนะสงครามโลก มองว่า การที่ประเทศต่างๆ กลายเป็นคอมมิวนิสต์ ก็เนื่องจากปัญหาความยากจน การไม่มีกินของคนในชาติ เลยเกิดความคิดว่า ทำอย่างไรให้ประเทศต่างๆ มีเศรษฐกิจดีขึ้น

ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของการให้สิทธิจีเอสพีแก่ประเทศที่ล้าหลัง ด้อยพัฒนา

ประเทศใดได้สิทธิจีเอสพี ก็จะสามารถส่งสินค้าเข้าไปยังสหรัฐ โดยเสียภาษีต่ำกว่าปกติ ถือเป็นแต้มต่อเพื่อให้เกิดการแข่งขัน

หลายประเทศในโลก ก็เริ่มสร้างชาติจากการได้สิทธิจีเอสพีของสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฯลฯ แต่สุดท้ายประเทศเหล่านี้ก็ยกระดับพัฒนาตัวเอง หลุดพ้นกับดักจีเอสพี

ไทยเองก็ได้รับสิทธิจีเอสพีในสินค้าหลายรายการมาตั้งแต่แรก จนถึงบัดนี้ก็ได้จีเอสพีในสินค้าบางรายการอยู่

หรือพูดง่ายๆ ว่า เป็นการเสพติดจีเอสพีแบบถาวรคงไม่ผิดนัก โดยยังอิ่มเอมกับสิทธินี้มาตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลก

หลายครั้งหลายหนที่ประเทศคู่ค้าอย่างสหรัฐใช้จีเอสพีมาเป็นเครื่องมือข่มขู่ หรือบีบบังคับทางการค้า เพราะรู้ดีว่าถ้าสินค้าบางอย่างไม่ได้จีเอสพี จะส่งออกไปสหรัฐได้ยาก เนื่องจากติดปัญหาการแข่งขันทางราคา

ทั้งหมดคือจุดตายของประเทศที่เสพติดจีเอสพี โดยสินค้าใดที่ถูกยกเลิกสิทธิ ก็ต้องมีอันพังพาบ ยอดการส่งออกหดตัวลงทันที

นอกจากนั้น จีเอสพี ยังเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน บางปีก็ได้ บางปีก็อาจจะไม่ได้ โดยมีเงื่อนไขอื่นๆ ประกอบมากมายเพิ่มเติมขึ้นภายหลัง โดยเฉพาะถูกนำมาใช้เพื่อต่อรอง บีบบังคับกันมากขึ้น

จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่า ควรตั้งเป้าเอาจริงเอาจังเสียทีว่า จะเลิกเสพติดจีเอสพีกันปีไหน

ถ้าทำได้นั่นแหละ จะเป็นการส่งออก 4.0 อย่างแท้จริง