posttoday

การเมืองเรื่องสงฆ์

12 กุมภาพันธ์ 2559

ในที่สุด กรรมการมหาเถรสมาคม มีมติเอกฉันท์ว่า พระเทพญาณมุณี หรือ หลวงพ่อธัมมชโย แห่งวัดพระธรรมกาย เป็นอันพ้นมลทินจากคดียักยอก

โดย...คุณบ๊งเบ๊ง [email protected]

ในที่สุด กรรมการมหาเถรสมาคม มีมติเอกฉันท์ว่า พระเทพญาณมุณี หรือ หลวงพ่อธัมมชโย แห่งวัดพระธรรมกาย เป็นอันพ้นมลทินจากคดียักยอก เพราะเรื่องสิ้นสุดตั้งแต่ศาลชั้นต้นแล้ว

ปิดฉากข้อถกเถียงที่ยาวนานเกิน 10 ปี ด้วยคำวินิจฉัยง่ายๆ คือ “เรื่องจบไปนานแล้ว”

กรณีนี้น่าศึกษาว่าการมอบอำนาจการปกครองพระไปไว้ที่ “รัฐบาล” ของคณะสงฆ์อย่าง “มหาเถรสมาคม” นั้นยังมีประสิทธิภาพอยู่หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาระบบดังกล่าวได้สร้างรอยด่างขึ้นมากมาย

ที่ถูกวิจารณ์มากที่สุด ก็คือ การเอาตัวแทนของคณะสงฆ์ทั่วประเทศไปอยู่ใต้สังกัดของ “วัดพระธรรมกาย”

สังเกตได้ การรับใช้ใกล้ชิด ทั้งการจัดอีเวนต์ใหญ่อย่าง “ธุดงค์ธรรมชัย” หรือการจัดบวชเณรหลายหมื่นรูปทั่วประเทศ ลามไปถึงการแทรกแซงชมรมพระพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัย หรือในโรงเรียนมัธยม โดยมีองค์กรตามกฎหมายที่มีหน้าที่รับใช้คณะสงฆ์อย่าง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ อำนวยความสะดวกทุกวิธี

ทั้งที่แท้จริงแล้ว วัดพระธรรมกาย ไม่ได้มีสถานะต่างกับวัดอื่นๆ ที่เจ้าอาวาสมีสถานะเป็นชั้น “เทพ” เหมือนกัน แต่กลับมีอิทธิพลเหนือกว่า ด้วยคอนเนกชั่นใกล้ชิดจากบุคคลแวดล้อมที่ทรงอำนาจทั้งในทางโลกและทางธรรม

ยิ่งไปกว่านั้น ตัวเลขทางบัญชีของวัดพระธรรมกาย อยู่เหนือวัดอื่นไปมาก เลยสามารถสร้างอาณาจักรยิ่งใหญ่ที่ปทุมธานีอย่างสะดวกโยธิน จนใครก็ยุ่มย่ามไม่ได้

แม้ว่าจะมีคดีและถูกครหามากมาย ทว่าบทบาทของมหาเถรสมาคม ก็ยัง “อุดหนุน” วัดพระธรรมกาย อย่างต่อเนื่องและยาวนาน

อีกหนึ่งกรณีศึกษา คือ ในช่วงที่สมเด็จเกี่ยวยังมีชีวิตอยู่ มีเรื่องเล่าต่อกันว่า พระสงฆ์ชั้นเจ้าคุณรูปหนึ่ง ได้ใช้อำนาจในฐานะ “มือขวา” และในฐานะกรรมการมหาเถรสมาคม ถึงขั้นให้พระทั่วประเทศ นำรถหรูจำนวนมากมาถวายเพื่อผูกสัมพันธ์ และอำนวยความสะดวกหากต้องการเลื่อนสมณศักดิ์

ในเวลาเดียวกัน ฝ่ายที่ไม่มาสวามิภักดิ์ หรืออยู่ตรงข้ามกับขั้วอำนาจ ก็ถูกเล่นงานจนไม่เหลือที่ยืนเช่นกัน หลังสมเด็จเกี่ยวมรณภาพ เมื่อดุลอำนาจเปลี่ยน เจ้าคุณที่เคยเรืองอำนาจก็ตกต่ำอย่างที่หลายคนคาดไม่ถึง...

สองเรื่องนี้ได้สะท้อนให้เห็นแล้วว่า การเอาอำนาจไปไว้ให้ “สถาบันสงฆ์” จัดการกันเองนั้นทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง

คำถามที่สำคัญ ก็คือ จะทำอย่างไรให้คณะสงฆ์ ยังคงเป็นที่เคารพศรัทธา มากกว่าจะถูกมองในภาพของความขัดแย้ง หรือความมัวหมอง

มีข้อเสนอมากมาย ทั้งจากฟากที่เห็นด้วยให้ ยุบ ลด เลิก อำนาจของมหาเถรสมาคม และจากฟากที่เสนอให้คืนอำนาจกลับไปให้พระมหากษัตริย์

แต่บทเรียนที่ชัดแล้ว ก็คือ การให้อำนาจล้นฟ้า และไม่เปิดช่องให้เกิดการมีส่วนร่วมโดยสังคมภายนอกนั้น อันตรายมากขนาดไหน

ไม่ว่าสถาบันใด หากมีอำนาจอยู่ในมือล้นฟ้า โดยไม่มีวิธีตรวจสอบการใช้อำนาจที่ยุติธรรม และได้รับความเชื่อถือ สุดท้ายก็ต้องรอวันเสื่อมลงไปเรื่อยๆ เพราะในที่สุดผู้ใช้อำนาจก็จะสร้างขั้วของตัวเอง ขึ้นมาปะฉะดะกัน จนรอวันล่มสลายไปในที่สุด