posttoday

รัฐธรรมนูญทหาร

30 กันยายน 2558

ถ้าหากเป็นไปตามคาดการณ์ตามกระแสข่าว พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ

โดย...ปริญญา ชูเลขา

ถ้าหากเป็นไปตามคาดการณ์ตามกระแสข่าว พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ จะมาเป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพราะตรงสเปกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มากที่สุด 3 ข้อ คือ 1.เชี่ยวชาญกฎหมายและการร่างรัฐธรรมนูญ 2.มองทะลุสถานการณ์บ้านเมืองอดีต ปัจจุบัน และอนาคต และ 3.มีความคิดสอดคล้อง คสช.ในการขับเคลื่อนและปฏิรูปประเทศ หรือกล่าวง่ายๆ คสช.สั่งได้

ขณะที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ น่าจะเข้ามานั่งในตำแหน่งประธานสภาขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เพื่อมาปรู๊ฟร่างรัฐธรรมนูญในภาพกว้าง เพราะด้วยประสบการณ์นักกฎหมายมือหนึ่งที่ผ่านร้อนผ่านหนาวสถานการณ์ทางการเมืองมาทุกยุคสมัย และด้วยสายสัมพันธ์แนบแน่นกับ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย มาร่วมกันคุมปฏิทินร่างรัฐธรรมนูญตามสูตร 6+4+6+4 ยิ่งด้วยมีชัยมีอายุที่เยอะมาก เพราะ 6 เดือนในการร่างรัฐธรรมนูญต้องทำงานหนัก จึงควรพักขึ้นไปนั่งเป็นประธานน่าจะเหมาะสมกว่า

แม้ก่อนหน้านี้กระแสสังคมเชียร์ อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่คงเป็นเพียงกระแสข่าว เพราะอานันท์เข้าสเปก คสช.แค่ 2 ข้อแรกเท่านั้น ยกเว้นข้อสุดท้าย แม้ คสช.ต้องการดึงอานันท์มาร่วมงานมากแค่ไหน เพราะเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับในความเป็นกลาง ความน่าเชื่อถือ คอนเนกชั่นสูงในทุกระดับ ตั้งแต่นักการเมือง กองทัพ ภาคธุรกิจ หรือภาคประชาสังคม โดยเฉพาะประสบการณ์ปฏิรูปกับ นพ.ประเวศ วะสี ครั้งเคยทำงานในคณะกรรมการการปฏิรูปยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี แต่ด้วยบุคลิกคนตรง โผงผาง ยอมหักไม่ยอมงอ ย่อมทำงานกับ คสช.ลำบาก ดังนั้น พล.อ.จิระ จึงลงตัวที่สุด

จึงทุบโต๊ะว่าหากทหารร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นมาจริงๆ จะถูกติดตามตรวจสอบอย่างหนักในอนาคต และอาจมีกลุ่มการเมืองบางฝ่ายจะออกมาต่อต้านเพราะกังวลในประเด็นสอดไส้สืบทอดอำนาจ คสช.ในรัฐธรรมนูญฉบับทหารทำ