posttoday

ตั้งกระทรวงมั่นคง

17 กันยายน 2558

เพราะต้องการกระชับการทำงานข่าวกรองและงานด้านความมั่นคงให้เป็นเอกภาพเพื่อดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย

โดย...ปริญญา ชูเลขา

เพราะต้องการกระชับการทำงานข่าวกรองและงานด้านความมั่นคงให้เป็นเอกภาพเพื่อดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย จึงทำให้ข้อเสนอตั้งกระทรวงพิทักษ์ความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ดังขึ้นอีกครั้งในรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

บุคคลสำคัญในการผลักดันเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น คือ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เนื่องจากเห็นว่ากฎหมายงานความมั่นคงมีปัญหาทับซ้อนในการบังคับใช้ระหว่างหน่วยงาน ไร้กลไกการประสานงานที่เป็นเอกภาพ และอิทธิพลทางการเมืองเข้ามาแทรกแซง ยิ่งสถานการณ์การเมืองต้องเผชิญภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ เช่น ขบวนการค้ามนุษย์ อาชญากรรมข้ามชาติ แรงงานต่างด้าว การก่อการร้าย ภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือด้วยน้ำมือมนุษย์ เช่น สารเคมีรั่วไหล คลังน้ำมันระเบิด หรือภัยร้ายจากโรคระบาดใหม่ เป็นต้น

เบื้องต้นจะรวมงานข่าวกรองและงานความมั่นคงมาไว้ด้วยกัน อาทิ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ หน่วยสันติบาล ที่รับผิดชอบงานข่าวกรอง งานทะเบียนราษฎรของกระทรวงมหาดไทย หน่วยงานบางส่วนของกรมศุลกากร และหน่วยงานบางส่วนของกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดชายฝั่งทะเล กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ ฝ่ายความมั่นคงเคยมีการนำเสนอให้กับรัฐบาลชุดที่ผ่านๆ มา ตั้งแต่ครั้งสหรัฐอเมริกาเผชิญหน้าภัยก่อการร้ายเป็นผลมาจากเหตุวินาศกรรม 911 แต่กลับไม่ประสบผลสำเร็จ

ดังนั้น ทุบโต๊ะว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช.ไม่ปล่อยให้เรื่องนี้เป็นแค่แนวคิดหรือข้อเสนอแนะเท่านั้น แต่จะจัดตั้งกระทรวงนี้ขึ้นมาให้ได้จริงๆ เพราะเวลานี้เหมาะสมที่สุด นายกรัฐมนตรีมีอำนาจเบ็ดเสร็จทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ หรืออาจจะใช้มาตรา 44 ในการตั้งกระทรวงพิทักษ์ความมั่นคงแห่งมาตุภูมิก็ได้โดยที่ไม่มีฝ่ายหรือหน่วยงานภาครัฐใดกล้าคัดค้าน