posttoday

ทางรอดเกษตร

14 พฤษภาคม 2558

ท่ามกลางเทคโนโลยีและทุนนิยมเป็นใหญ่ ส่งผลให้การทำเกษตรกรรมโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยนับวันยิ่งอ่อนแอ หากก้าวไม่ทันสถานการณ์

โดย...ปริญญา ชูเลขา

ท่ามกลางเทคโนโลยีและทุนนิยมเป็นใหญ่ ส่งผลให้การทำเกษตรกรรมโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยนับวันยิ่งอ่อนแอ หากก้าวไม่ทันสถานการณ์

ความพยายามจากภาครัฐบาลโดย ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เตรียมเสนอแนวทางเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตของเกษตรกร ด้วยการฟื้นฟูระบบสหกรณ์การผลิตกลับมามีบทบาทอีกครั้ง เพื่อหวังใช้เป็นเครื่องมือยกระดับขีดความสามารถตัวเกษตรกรให้สามารถต่อสู้กับกลไกตลาดผ่านการเปิดตลาดสินค้าเกษตรชุมชน และหวังแก้ปัญหาความแตกต่างด้านราคาซื้อขายหน้าฟาร์มที่ถูกบริษัทยักษ์ใหญ่บิดเบือนราคา

ปัจจุบันเกษตรกรไทยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไป ขณะที่ลูกหลานทิ้งไร่นาไปเป็นลูกจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้น การพัฒนาศักยภาพการผลิตต่อไร่ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยย่อมสู้ทุนใหญ่ไม่ได้ เพราะเกษตรกรที่ชราภาพยังใช้กำลังแรงงานมากกว่าเทคโนโลยีทำการเกษตร ขณะที่หัวใจสำคัญของระบบสหกรณ์ที่รัฐบาลกำลังจะทำ คือแนวคิดรัฐวิสาหกิจชุมชนที่เคยเกิดขึ้นมากว่า 10 ปีแล้วนั้นเอง

ประเด็นสำคัญ คือ ภาคราชการโดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะให้ความสำคัญ หรือจริงจังขนาดไหนต่างหาก ในการสนับสนุนรายย่อยมากกว่าบริษัทรายใหญ่ จึงจะทำให้รัฐวิสาหกิจชุมชนเกิดขึ้นได้จริง เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าดีมีคุณภาพและแตกต่างด้วยระบบร่วมทุน โดยยึดความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร หรือซีเอสอาร์ เข้ามาช่วย

ทุบโต๊ะ ได้เลยว่า ไม่ว่าระบบสหกรณ์ หรือรัฐวิสาหกิจชุมชน ย่อมคือทางออกหนึ่งของเกษตรกรไทย เพราะการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและแตกต่าง พร้อมกับมีการพัฒนาศักยภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยีสามารถแก้ 2 ปัญหาใหญ่ในระบบเกษตรกรรมไทยได้นั้น คือ ปัญหาการสูญเสียที่ดินทำกินและปัญหากลไกตลาดถูกทุนใหญ่บิดเบือน

สุดท้ายจะเป็นทางรอดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกระทรวงเกษตรฯ ทำได้จริงหรือไม่