posttoday

คสช.ยังเอาอยู่

21 มกราคม 2558

ตามกำหนดการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วางคิวการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยจะเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาแถลงปิดคดีก่อนนัดลงมติถอดถอน

โดย...ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว

ตามกำหนดการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วางคิวการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยจะเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาแถลงปิดคดีก่อนนัดลงมติถอดถอน

กล่าวคือ ในคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมิชอบเป็นเหตุให้มีการถอดถอนนั้น สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา จะมาแถลงปิดคดีในวันที่ 21 ม.ค. 2558

ส่วนวันที่ 22 ม.ค. 2558 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แถลงปิดคดีตามข้อหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่ปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว จากนั้นดีเดย์วันที่ 23 ม.ค. 2558  สนช.นัดประชุมเพื่อลงมติถอดถอนบุคคลทั้่งสาม

ห้วงเวลาดังกล่าว มีแรงกระเพื่อมเล็กๆ จากฝ่ายสนับสนุนบุคคลทั้งสามทั้งการให้สัมภาษณ์ทำนองข่มขู่ว่าหากตัดสินให้ถอดถอน บ้านเมืองไม่สงบแน่

บรรดาผู้มีบทบาทในพรรคเพื่อไทยเป็นถึงอดีตรัฐมนตรีสลับสับเปลี่ยนโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก เช่น หัวข้อ “การถอดถอนกำลังบ่งบอกถึงความล้มเหลว” โดยพยายามชี้ให้สังคมเข้าใจว่าถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง ไม่ได้รับความยุติธรรม

ล้วนโน้มน้าวสร้างความเชื่อให้ผู้คนมาสนับสนุน ด้วยความหวังปลุกระดมให้เกิดความวุ่นวายนำไปสู่ความรุนแรงตามที่ต้องการ

แต่หากประเมินศักยภาพรัฐบาล คสช. โดยอาศัยเครื่องมือกฎอัยการศึกควบคุมความสงบเรียบร้อย ก็ดูจะทำให้การนำมวลชนออกมาเคลื่อนไหวกดดันเป็นไปด้วยความยากลำบาก

แม้แต่แกนนำคนเสื้อแดงอย่าง จตุพร พรหมพันธ์ุ ยอมรับว่าคนเสื้อแดงไม่ควรออกมาชุมนุมเพราะอาจจะตกเป็นแพะทาง
การเมืองได้

ทุบโต๊ะได้เลย นับจากนี้จนถึงวันลงมติถอดถอน รัฐบาล คสช.สามารถเอาอยู่ต่อสถานการณ์ในสภาและนอกสภา แต่สำหรับเดือนถัดไปนั้นคงต้องติดตามคลื่นการเมืองลูกใหม่ที่กำลังก่อตัวว่าจะควบคุมได้หรือไม่?!?