posttoday

ทุนเปลี่ยนโลก

21 ตุลาคม 2557

ความเหลื่อมล้ำและช่องว่างทางสังคมเป็นรากฐานสำคัญของปัญหาความแตกแยกในบ้านเมือง โดยเป็น 1 ใน 11 ประเด็นที่จะต้องมีการปฏิรูปหาแนวทางแก้ไขปัญหา

โดย...ณ กาฬ เลาหะวิไลย

ความเหลื่อมล้ำและช่องว่างทางสังคมเป็นรากฐานสำคัญของปัญหาความแตกแยกในบ้านเมือง โดยเป็น 1 ใน 11 ประเด็นที่จะต้องมีการปฏิรูปหาแนวทางแก้ไขปัญหา

สภาพความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นเมื่อมีการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจจากธรรมชาติของทุนนิยมที่ปลาใหญ่จะกินปลาเล็ก มือที่มองไม่เห็นทำงานโดยไม่มีวันหยุด

การพัฒนาโดยใช้ทุนนิยมในด้านดี คือความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ แต่ด้านมืดก็ก่อให้เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ทำลายทุนทางวัฒนธรรม สร้างปัญหาทางสังคมตามมา เป็นลักษณะเช่นนี้เหมือนกันทั้งโลก

ทั้งหมดจึงเกิดความพยายามแก้ปัญหาด้านมืดของทุนนิยมอย่างมากมาย นับตั้งแต่ธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ธุรกิจต้องยึดแนวการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) โดยคำนึงถึงผลด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมๆ กัน ฯลฯ

และสิ่งที่กำลังเป็นแนวโน้มที่น่าสนใจก็คือ การก่อเกิดของทุนสร้างสรรค์ เป็นทุนนิยมที่เข้ามาแก้ปัญหาทางสังคม ในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) หรือธุรกิจเพื่อสังคม (Social Business)

ในหลายประเทศทั่วโลก ธุรกิจขนาดใหญ่เข้าไปมีส่วนร่วมในวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือธุรกิจเพื่อสังคม โดยผู้ที่มีบทบาทในแนวคิดระดับโลกก็คือ มูฮัมหมัด ยูนุส (Muhammad Yunus) เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ชาวบังกลาเทศ

ยูนุส เป็นผู้ก่อตั้งกรามีนแบงก์ (Gremeen Bank) ซึ่งเป็นธนาคารคนจนของบังกลาเทศ โดยชาวบังกลาเทศจำนวนมากจนดักดานจากปัญหาการขาดแหล่งเงินทุน ต้องทำงานทั้งชีวิตเพื่อใช้หนี้ที่กู้มาในวงเงินไม่กี่ร้อยบาท

กรามีนแบงก์จึงเกิดขึ้น โดยปล่อยกู้ให้กับคนจนแบบไม่มีหลักประกัน เพียงแค่ใช้ตัวบุคคล 5 คน มาค้ำประกันร่วมกัน กลุ่มเป้าหมายใหญ่คือผู้หญิงชาวบังกลาเทศที่มีความรับผิดชอบดีกว่าผู้ชาย

ทั้งหมดสามารถแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรากหญ้าชาวบังกลาเทศได้อย่างตรงจุด และขยายขอบเขตขึ้นเรื่อยๆ

จากนั้น ยูนุส เสนอแนวทางแก้ปัญหาความยากจน และปัญหาสังคมอีกระดับด้วยแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคม ที่คล้ายคลึงกับวิสาหกิจเพื่อสังคม

ธุรกิจเพื่อสังคม จะเป็นการจัดตั้งบริษัททำธุรกิจเต็มรูปแบบ แต่เป้าหมายไม่ใช่การทำกำไรสูงสุด แต่เป็นการแก้ปัญหาสังคมด้านใดด้านหนึ่งอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยระบบทุนและระบบธุรกิจที่เป็นเครื่องมือ

เหมือนกับทุนนิยมสร้างปัญหาในสังคม ก็ต้องใช้ทุนนิยมเข้ามาแก้

ทุนนิยมเหล่านี้จะเปลี่ยนโลกอย่างไร พรุ่งนี้ขอต่ออีกสักวัน