posttoday

อาขยาน”เลือกตั้ง”

06 มกราคม 2557

“ประชาธิปไตยต้องไปเลือกตั้ง” “การเลือกตั้งเป็นยาดีที่สุดที่คลี่คลายวิกฤต ” การเลือกตั้งตอบโจทก์ความขัดแย้ง ดูจะกลายเป็นบทอาขยานให้ท่องจำจนขึ้นใจ

โดย...อสนีบาต            

ทั้งที่ บ้านเมืองเต็มไปด้วยเหล่านักการเมืองพฤติกรรมหยาบช้า   ฉ้อฉลทุจริต ก้าวล่วงอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ  ใช้ความเป็นผู้แทนออกกม.ย่ำยีติรัฐ นิติธรรม    อีกด้านข้าราชการกุมเป้าโน้มคารวะนักโทษหนีคดีอย่างไร้อย่างอาย   ส่วนลิ่วล้อแกนนำสอพลอปลุกระดมผู้คนให้เกลียดชังฝ่ายเห็นต่าง ด้วยการขว้างปาเข้าทำร้ายตามแบบฉบับ  ข้ามาเพื่อปกป้องกติกาประชาธิปไตยเหมือนป้ายหาเสียงต้องเป็นแบบนี้นี่เอง  

ท่ามกลางความวุ่นวายทั้งหลายแหล่   ก็ยังคงได้ยินบทอาขยาน  “  ต้องไปเลือกตั้ง ต้องไปเลือกตั้ง และต้องไปเลือกตั้ง “

โดยหารู้ไม่เลยว่า  สถานการณ์ทั้งก่อนและหลังเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร  นักมองโลกสวยก็คงตะบี้ตะบันจุดเทียนป่าวประกาศต้องไปเลือกตั้ง ต้องไปเลือกตั้ง และ ต้องไปเลือกตั้งต่อไป

ประชาธิปไตย ต้องไปเลือกตั้ง  เป็นคำกล่าวสร้างความเข้าใจง่ายๆ ให้กับประชาชนยึดถือชุดความคิดผ่านนักการเมือง สมุนลิ่วล้อ ที่ถ่ายทอดความเป็นประชาธิปไตยแบบไม่ต้องคิดมากให้สลับซับซ้อน ไม่ต่างกับการเกณฑ์เข้าห้องเรียน ใครท่องเสียงดัง จำได้ถูกต้องชัดถ้อยชัดคำก็ได้รับคะแนนไป โดยปราศจากการสังเคราะห์ บทที่ท่องอยู่ขณะนั้นมันให้อะไรกับตัวเราบ้าง   

..."หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง" มอบให้กับผู้เป็นตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ในสภาฟอร์มรัฐบาลบริหารประเทศ จากนั้นสิทธิของคุณสิ้นสุดลงจนกว่าจะมีการคืนอำนาจเลือกตั้งใหม่

วิธีถ่ายทอดหลักประชาธิปไตยของนักแสวงหาอำนาจแม้แต่นักวิชาการบางกลุ่มที่กำลังออกไปในลักษณะนักวิชาเกินล้วนสื่อสารแนวทางนี้

ควรต้องกลับมาทบทวนบ้างประไร วิธีการสอนประชาธิปไตยหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงแบบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปลวกน้ำร้อนรับประทานได้เลยโดยไม่ศึกษาถึงส่วนผสมสารปรุงแต่งที่เจือปนจนจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ   ไม่เป็นการดูถูกภูมิปัญญาประชาชนคนไทยในยุคก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลงเกินไปหน่อยหรือ

เหมือนอย่างที่นักการเมือง นักวิชาเกินบางกลุ่มที่ออกมาเล่นลิ้นกล่าวถึงการเคลื่อนไหวของมวลมหาประชาชนเป็นแค่กลุ่มคนจำนวนหนึ่งเท่านั้นไม่ได้ชี้ว่าเป็นคนจำนวนมากทั้งประเทศ นั่นเป็นสิทธินักการเมืองและนักวิชาเกินคิดได้

แต่สำหรับพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตยก็มีสิทธิบอกกล่าวนักการเมืองและนักวิชาเกินเช่นกันว่า สถานการณ์คนไทยหลายล้านคนวงเล็บดูไม่มากเลยในหมู่นักการเมืองและนักวิชาเกินบางกลุ่ม ตื่นตัวทางการเมืองใช้เวทีราชดำเนินเป็นห้องเรียนรัฐธรรมนูญขนาดใหญ่ มีการศึกษาแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านสังคมโซเชียลมีเดียเลือกเสพข่าวสาร อะไรคือของแท้ของเทียม

พร้อมกับลงมาสัมผัสพื้นที่จริงด้วยการเบิ่งตาเห็นความเป็นไปแต่ละฝ่ายทำให้ตัดสินได้เหมือนกันว่า การสร้างประชาธิปไตยมีความหมายกว้างขวางกว่าการยัดข้อมูลให้เดินเรียงแถวเข้าคูหากาบัตรเลือกตั้งเท่านั้น  อีกทั้งการแสดงพลังของมวลมหาประชาชน อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองประเทศไทย ก็เป็นสิทธิที่คนหลายล้านคน ณ ตรงนั้นเข้าใจเช่นเดียวกันว่าพวกเขาคือตัวแทนประชาชนอีกหลายล้านทั่วประเทศที่มีเจตจำนงเดียวกันเพียงแต่ไม่ได้ออกมาปรากฏตัว

ไม่จำเป็นต้องจูงจมูกทุกครัวเรือนให้แสดงบัตรประชาชนบนท้องถนนผ่านเครื่องนับจำนวนคนแบบที่รัฐบาลในอดีตมักถนัดเกณฑ์คนมาร่วมกิจกรรมเต้นแอโรบิกมากที่สุดในโลก หรือเข้าคิวรับเงินมอบดอกไม้ให้กำลังใจผู้มีอำนาจรัฐแล้วประกาศว่า นี่ไงประชาชนผู้รักประชาธิปไตยของแท้อะไรทำนองนั้น

ประชาชนหลายล้านคนบนถนนกำลังมีความคิดอ่านหลักนิติศาสตร์รัฐศาสตร์รู้จักสิทธิเสรีภาพ การใช้กลไกรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งดูก้าวล้ำกว่านักการเมือง นักวิชาเกินที่อยู่ในกรอบความคิดเดิมๆ

บางทีพวกเขาอาจกลายเป็นนักวิชาการข้างถนนที่พร้อมด้วยคุณภาพกว่านักวิชาเกินบางจำพวกด้วยซ้ำไป

ดังนั้น ภาวะที่นักการเมืองจมอยู่กับเกมการเมืองสาละวนอยู่กับข้อกล่าวหาม็อบนั้นม็อบนี้ มีอำมาตย์หนุนหลังกลายเป็นคำแถลงที่ผู้คนยุคนี้ให้ค่าเป็นแค่โจ๊กการเมือง

แม้แต่นักวิชาเกินบางกลุ่มก็ถูกสังคมสแกนที่มาที่ไปพบว่า มีความรู้แค่เปลือกแต่มักชอบสร้างเรตติ้งทางทีวีเท่านั้นเอง

ในเมื่อประชาชนคนไทยตื่นตัวทางการเมือง อีกทั้งสั่งสมข้อมูลเรียนรู้รวดเร็ว  ก็ต้องมองย้อนกลับไปที่กลุ่มนักการเมืองประเภทสายพันธุ์จิ้งจอกหลอกชาวบ้านได้เสมอไปหรือนักวิชาเกินหลงทฤษฎีไม่ได้สัมผัสความเป็นจริง สุดท้ายจะตกขบวนการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยด้วยน้ำมือและสองเท้าของประชาชนตื่นรู้อย่างแท้จริง