posttoday

ลด-ไม่ลด

29 พฤษภาคม 2556

วันนี้สายตาหลายคู่จับจ้องไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ เนื่องจากจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

โดย...ณ กาฬ เลาหะวิไลย

วันนี้สายตาหลายคู่จับจ้องไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ เนื่องจากจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

ประเด็นสำคัญก็คือ กนง.จะลดดอกเบี้ยหรือไม่

เพราะช่วงที่ผ่านมา เกิดสงครามดอกเบี้ย ระหว่าง กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง กับ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารชาติ

กิตติรัตน์ กดดันสารพัดวิธี ต้องการให้ลดดอกเบี้ย แต่ทว่าก็ไม่ลดดอกเบี้ย ด้วยความกังวลถึงปัญหาฟองสบู่และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อาจร้อนแรงไป

ทั้งหมดจึงทำให้ความคุกรุ่น รังสีอำมหิตแผ่ซ่าน ผู้ตกเป็นเป้าหมายก็คือ ประสาร

แม้การปรับหรือลดดอกเบี้ยจะกระทำในรูปคณะกรรมการ กนง. แต่ทว่าซีกการเมืองมองว่า ผู้ว่าธนาคารชาติ คือผู้ทรงอิทธิพลใน กนง. หากผู้ว่าแบงก์ชาติยอม ดอกเบี้ยก็จะลดลง

หากเป็นกฎหมายเก่า มีหวัง ประสาร เด้งไปเรียบร้อย

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือการย้าย สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตร เนื่องจากไปสรุปตัวเลขการรับจำนำข้าวจะมียอดขาดทุนรวม 2.6 แสนล้านบาท

แม้จะเป็นตัวเลขที่จริง แต่การเมืองรับไม่ได้ ต้องการซุกหนี้เอาไว้ไม่ให้ใครรู้

นี่แหละ คือการเชือดให้ดูแบบสดๆ ร้อนๆ

ยิ่งก่อนหน้านี้ก็มีสัญญาณแปลกๆ เกี่ยวกับดอกเบี้ยมาตลอด

นับตั้งแต่การเคลื่อนไหวของภาคเอกชน นำโดย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ออกมาระบุ การส่งออกมีปัญหาจากค่าเงินบาทแข็ง และเรียกร้องให้ลดดอกเบี้ย

สำเนียงเดียวกับ กิตติรัตน์ เปี๊ยบ

ถัดมา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ก็เอาบ้าง บอกว่าเศรษฐกิจกำลังชะลอตัว แรงซื้อหด การส่งออกไม่ขยายตัว เนื่องจากค่าเงินบาทแข็ง ฯลฯ เหมือนมาตะเภาลำเดียวกัน

แต่อีกไม่นานนัก ปรากฏว่าตัวเลขการส่งออกเดือน เม.ย. กลับขยายตัว 10.52% ให้เห็น ท่ามกลางค่าเงินบาทแข็ง

ใครหน้าแหก หน้าแตกบ้าง ก็คงต้องหาแพทย์ผิวหนังกันเอง

ปรากฏการณ์ทั้งหมด จึงจะมาขมวดปมในการประชุม กนง.วันนี้ ที่มีความสัมพันธ์ถึงเสถียรภาพของเก้าอี้ผู้ว่าแบงก์ชาติ

ต้องจับตากันด้วยใจระทึก