posttoday

ประชามติ

24 ธันวาคม 2555

ใกล้ถึงวันปีใหม่ ความจริงแล้วไม่อยากเขียนถึงเรื่องน่าปวดหัว

ใกล้ถึงวันปีใหม่ ความจริงแล้วไม่อยากเขียนถึงเรื่องน่าปวดหัว

โดย...ณ กาฬ เลาหะวิไลย

เพราะใกล้ช่วงปีใหม่ก็น่าจะเอาเรื่องดีๆ มาเล่าสู่กันฟัง

แต่เนื่องจากช่วงกลางเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสเดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์ในฐานะคณะนักศึกษาหลักสูตรการเมืองในระบอบประชาธิปไตย สำหรับผู้บริหารระดับสูง หรือ ปปร. 16 สถาบันพระปกเกล้า และสิ่งที่ไปรับฟังมีประเด็นการทำประชามติ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมืองพอดี

ทั้งหมดเลยจะเอาสิ่งที่ไปรับฟังมาเล่าสู่กันฟัง ทั้งในแง่วิชาการ เทียบกับสถานการณ์บ้านเมือง

เท่าที่ดูความเคลื่อนไหว มีความเป็นไปได้อย่างมากที่รัฐบาลจะเดินหน้าทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร วิดีโอลิงก์มายังเวทีคนเสื้อแดงที่เขาใหญ่เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน

คำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็คือ รัฐบาลมีภารกิจเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ โดยการทำประชามติเพื่อให้มีประชาชนออกมาใช้สิทธิเกิน 24 ล้านเสียง

นี่แหละ ต่อไปเห็นทีจะต้องมีการขมีขมัน ขยับขยาย เรื่องการทำประชามติ เพราะตัวจริงเสียงจริงส่งสัญญาณมาแล้ว ให้หน้าเดิน

ความจริงแล้ว การทำประชามติเป็นสิ่งที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นประชาธิปไตยทางตรง เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าสู่การตัดสินใจทางการเมือง

หากมองประชาธิปไตยของไทย จะเห็นว่า เป็นระบอบประชาธิปไตยตัวแทน ก็คือเราจะเลือก สส.เป็นผู้แทน จากนั้น สส.ไปเลือกรัฐบาล และทำหน้าที่แทนประชาชน

ที่ผ่านมา จึงมักมีการพูดว่า ประชาธิปไตยเมืองไทยประชาชนมีอำนาจอยู่แค่ 5 วินาที คือช่วงกาบัตร หย่อนลงหีบเลือกตั้ง จากนั้นอำนาจก็ย้ายไปอยู่ในมือนักการเมืองเสียแล้ว

เราก็มักได้ยินบรรดาผู้มีอำนาจและผู้เหลิงอำนาจ พูดว่า หากไม่พอใจอะไร รอไปอีก 4 ปี ค่อยใช้การเลือกตั้งมาตัดสินบ้าง หรือไม่ก็ท้าทายให้ลงสมัคร สส.แข่งกันบ้าง

ระบอบประชาธิปไตยของโลก โดยเฉพาะที่สวิสจึงมีการออกเสียงประชามติ เป็นการมอบอำนาจให้กับประชาชนโดยตรงเป็นผู้ตัดสิน ไม่ต้องเหม็นเบื่อ เหม็นหน้าบรรดาผู้มีอำนาจทั้งหลาย

แต่อีกนั่นแหละ การลงประชามติที่ชาวสวิสทำกัน กับที่บ้านเรากำลังตั้งท่า แม้เรียกชื่อคล้ายกัน แต่กระบวนการ จิตวิญญาณ แตกต่างกันลิบลับ เป็นหนังคนละม้วน

เป็นอย่างไร ติดตามอ่านแล้วกันครับ