posttoday

อย่าอมพะนำ

11 ตุลาคม 2555

โดย...ณ กาฬ เลาหะวิไลย

โดย...ณ กาฬ เลาหะวิไลย

เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ชี้แจงถึงการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี จำนวน 7 ล้านตัน

เนื้อหาตามที่นายกฯ บอกก็คือ จะให้ชี้แจงเริ่มตั้งแต่เซ็นสัญญากับประเทศไหน และการทำสัญญาแบบมีการเปิด L/C หรือ Letter of Credit รวมถึงการส่งมอบ

การอมพะนำ ทำเป็นลึกๆ ลับๆ ของกระทรวงพาณิชย์ ก่อให้เกิดความคลางแคลงใจอย่างมาก และยิ่งสร้างความเสื่อม ให้กับรัฐบาลมากขึ้นทุกขณะ

ส่วนที่จะมาอ้างความลับทางการค้าฟังไม่ขึ้น เพราะการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ และถึงขั้นทำสัญญากันแล้ว ย่อมเป็นผลผูกมัดทั้งสองฝ่าย ในอดีตสัญญาแบบรัฐต่อรัฐเมื่อทำกันแล้ว ก็จะสามารถเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับรู้

และสิ่งที่ต้องเปิดเผยเพื่อความกระจ่างอีกเช่นกัน ก็คือราคาที่มีการซื้อขาย เพราะมันเกี่ยวเนื่องถึงผลขาดทุนที่จะปรากฏขึ้นในโครงการจำนำข้าว

รัฐบาลจะปกปิด ไม่ให้สาธารณชนล่วงรู้ไม่ได้ เพราะเงินที่ใช้ในโครงการรับจำนำ ล้วนแต่เป็นเงินภาษีของประชาชน จะไปใช้ จะไปจ่าย ทำอะไร ก็ต้องเปิดเผย

ที่ผ่านมา รัฐบาลเคยประกาศไปทั่วเมือง โครงการรับจำนำข้าวรับรองได้ว่า จะขาดทุนไม่เกิน 6-7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการขาดทุนจากโครงการประกันรายได้ของรัฐบาลก่อน

แต่เท่าที่มีการประเมิน ผลขาดทุนโครงการรับจำนำน่าจะมากกว่านี้ ทั้งจากปริมาณข้าวที่รับจำนำ ทั้งจากราคารับจำนำที่สูงลิ่ว ทั้งจากต้นทุนค่าบริหารอื่นๆ

นโยบายสาธารณะ เช่น การรับจำนำข้าว จึงเป็นสิ่งที่ต้องตรวจสอบได้ พิสูจน์ได้ ในทุกขั้นตอน ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาทั้งความโปร่งใส การทุจริตที่ตามมาอย่างไม่หยุดยั้ง

ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องมีหน้าที่รายงานให้สังคมรับรู้ จะไปอ้างเฉพาะชาวนาได้ประโยชน์เพียงอย่างเดียว โดยละเลยประเด็นอื่นๆ ไม่ได้

การจำนำข้าวไม่เพียงแต่เป็นประเด็นร้อนในไทยเท่านั้น แต่เป็นประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ระดับโลก ทั้งจากสื่อต่างประเทศ แม้กระทั่งสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลก อย่างฟิทช์ เรทติ้งส์ ก็ยังมีคำถามเกี่ยวกับการจำนำข้าว

ประชาธิปไตยไม่ใช่การทะนงอยู่กับเสียงข้างมาก แต่ต้องพร้อมจะรับการตรวจสอบด้วยเช่นกัน

ไม่เช่นนั้น มันก็ไม่ต่างจากเผด็จการดีๆ นี่เอง