posttoday

การบินไทย กางไทม์ไลน์ ‘พ้นแผนฟื้นฟูกิจการ’ ก่อนกำหนด จ่อยื่นศาลอนุมัติ

07 เมษายน 2566

บมจ. การบินไทย (THAI) กางไทม์ไลน์พ้นแผนฟื้นฟูกิจการก่อนกำหนดเดิม จ่อยื่นศาลไตรมาส 3 ปีหน้า ด้วย 2 เงื่อนไข EBITDA ย้อนหลัง 12 เดือน เกิน 2 หมื่นล้านบาท คู่ส่วนผู้ถือหุ้นเป็นบวก หวังหวนคืนเข้าตลาดหุ้น ปี 2567

รายงานข่าวจากกรุงเทพธุรกิจระบุว่า บมจ. การบินไทย (THAI) เริ่มเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย.2563 โดยมีการแต่งตั้งนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นประธานผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ และได้มีการปรับโครงสร้างธุรกิจ ปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงขายทรัพย์สินที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก รวมทั้งได้ยื่นขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งศาลล้มละลายกลางเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565

ล่าสุดการบินไทยกำหนดกรอบเวลาในการออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งได้ชี้แจงต่อเจ้าหนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีเป้าหมายออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ และกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ไทย (ตลท.) ภายในปี 2567 ซึ่งเร็วกว่าแผนกำหนดไว้จากเดิมประมาณปี 2568 มีรายละเอียดดังนี้

  • ไตรมาส 1 ปี 2567 จะเริ่มขั้นตอนร่างหนังสือชี้ชวนการขายหุ้นเพื่อเสนอขออนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนหรือการแปลงหนี้เป็นทุน
  • ไตรมาส 2 ปี 2567  คาดว่าสำนักงาน ก.ล.ต.จะอนุมัติหนังสือชี้ชวน และสามารถเริ่มขั้นตอนดำเนินการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน หรือการแปลงหนี้เป็นทุนได้ 
  • ไตรมาส 3 ปี 2567 การบินไทยจะตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) เป็นไปตามขั้นตอนกำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ และยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งยื่นคำขอไปยัง ตลท.เพื่อปลดเครื่องหมาย SP และ NCs
  • ไตรมาส 4 ปี 2567 การบินไทยคาดว่าหากดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามแผนกำหนดไว้ จะส่งผลให้ในช่วงนี้หุ้นของ THAI จะกลับเข้ามาทำการซื้อขายใน ตลท.ได้ และทำให้การฟื้นฟูกิจการของการบินไทยแล้วเสร็จ มีความเข้มแข็งและสามารถบริหารกิจการได้อย่างยั่งยืน

กาง 2 เงื่อนไขพ้นแผนฟื้นฟู

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการเจ้าหนี้การบินไทย กล่าวว่า เงื่อนไขสำคัญที่การบินไทยจะออกจากแผนฟื้นฟูและกลับเข้าไปซื้อขายหลักทรัพย์ได้นั้นมี 2 ข้อ คือ 

1.ต้องมี EBITDA ย้อนหลัง 12 เดือน มากกว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้การบินไทยดำเนินการส่วนนี้ได้แล้ว 

2.ต้องมีส่วนทุนเป็นบวก โดยตามแผนที่ได้รับรายงานมาก็คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในช่วงต้นปี 2567

ทั้งนี้ ในฐานะเจ้าหนี้การบินไทยยืนยันว่าคณะกรรมการเจ้าหนี้พร้อมที่จะสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการที่การบินไทยกำหนดไว้ และเชื่อมั่นว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามแผน ซึ่งปัจจุบันการบินไทยสร้างความเชื่อมั่นให้เห็นแล้วว่าทำให้ธุรกิจกลับมามีรายได้ต่อเนื่องมีทิศทางเป็นบวก เหลือเพียงทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก ซึ่งต้องดำเนินการเพิ่มทุน โดยฐานะเจ้าหนี้พร้อมสนับสนุน

ส่วนเรื่องหนี้สินที่มีอยู่ในตอนนี้ ทางเจ้าหนี้ยังไม่ได้พูดคุยหรือเร่งรัด เพราะมองว่าต้องทำให้การบินไทยกลับมาเข้มแข็งก่อน และขณะนี้ต้องเดินหน้าแผนฟื้นฟูกิจการให้สำเร็จ จึงจะมีการดำเนินการส่วนของการชำระหนี้ได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็อยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการที่กำหนดไว้แล้ว

แหล่งข่าวยังเผยด้วยว่า ขณะนี้ทราบว่าการบินไทยมีกระแสเงินสดในมือ 4 หมื่นล้านบาท จึงไม่จำเป็นต้องจัดหาเงินทุนใหม่ ส่วนที่ขออนุมัติตามแผนฟื้นฟูกิจการวงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาทนั้น เป็นกรอบดำเนินงานที่ตั้งไว้ ซึ่งในฐานะเจ้าหนี้รู้สึกสบายใจมากกับผลการดำเนินงานของการบินไทย และตามที่ฝ่ายบริหารของการบินไทยออกมายืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีแผนจัดหาทุนใหม่ เพราะการกู้เงินทุนใหม่นั้น ก็ทำให้การบินไทยต้องนำสินทรัพย์ไปค้ำประกัน ทำให้เจ้าหนี้มีความเสี่ยงได้

คาดหุ้น THAI ซื้อขายปลายปี 67

ด้านนางเฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี บมจ. การบินไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าการฟื้นฟูกิจการว่า จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทำให้ผลประกอบการฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องนับจากเปิดประเทศกลางปี 2565 จึงคาดว่าการบินไทยจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการเร็วกว่ากำหนด

นอกจากนี้ หากปริมาณการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีนฟื้นตัวและกลับมาเดินทางได้เร็วกว่าคาด จะส่งผลบวกรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งจะทำให้ออกจากแผนฟื้นฟูเร็วกว่าที่คาด และจะทำให้หุ้น THAI กลับมาซื้อขายใน ตลท. เร็วที่สุดปลายปี 2567 หรือต้นปี 2568

เนื่องจากขณะนี้บริษัทยื่นจดทะเบียนเพิ่มทุนไปเมื่อ 14 ธ.ค.2565 เพื่อรองรับการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน ซึ่งเป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการในการปรับโครงสร้างทุน มีเป้าหมายในการทำให้ส่วนทุนเป็นบวกเพื่อสร้างความมั่นคงทางสถานะการเงินของบริษัท เพื่อให้หลักทรัพย์ของบริษัทกลับไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ใต้อีกครั้ง โดยมั่นใจว่าจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมามีค่ามากกว่าศูนย์ในปี 2567

แหล่งข่าวจากการบินไทยยังเปิดเผยอีกว่า ภาพรวมการดำเนินงานในปี 2566 มีรายได้จากธุรกิจหลักคือการขนส่งผู้โดยสารเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันการบินไทยมีเงินสดสะสม (แคชโฟว์) อยู่ในระดับแตะ 4 หมื่นล้านบาท 

รวมทั้งคาดว่าปี 2566 จะมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานจากธุรกิจหลักไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท โดยจากการประเมินสถานการณ์ทางการเงินเบื้องต้น การบินไทยจึงอาจยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดหาทุนใหม่ หรืออาจมีการจัดหาเพียง 1.25 หมื่นล้านบาท

เดินเครื่องส่วนผู้ถือหุ้นเป็นบวก

อย่างไรก็ดี กรณีที่จะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมามีค่ามากกว่าศูนย์ได้ในปี 2567 ตามข้อกำหนดของ ตลท. เรื่องการเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียน และแนวทางการดำเนินการของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ให้ระยะเวลาบริษัทฯ ในการแก้ไขเหตุเพิกถอนให้หมดไปภายในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 7 มี.ค.2567

โดยตามกำหนดข้างต้น การบินไทยอาจยังไม่สามารถแก้ไขเหตุเพิกถอนให้หมดไปได้ เพราะส่วนของผู้ถือหุ้นในขณะนั้นอาจยังคงมีค่าน้อยกว่าศูนย์ จึงคาดว่าจำเป็นต้องยื่นคำขอขยายเวลาเพิ่มอีก 1 ปี

ทั้งนี้การขอขยายเวลาเพิกถอนหลักทรัพย์อีก 1 ปี สามารถทำได้ตามกฎหมาย ซึ่งการบินไทยต้องชี้แจงเหตุผลและความจำเป็น รวมถึงคุณสมบัติตามที่ตลท. กำหนด เช่น บริษัทมีธุรกิจหลักที่จะประกอบธุรกิจต่อได้ต่อเนื่อง มีความคืบหน้าการดำเนินการชัดเจนตามแผน”

ด้านนายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. การบินไทย กล่าวก่อนหน้านี้ว่า การบินไทยจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการก่อนกำหนดเดิมที่วางไว้ในปลายปี 2567 เพราะผลการดำเนินงานเป็นบวกต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2565

รวมถึงความต้องการการเดินทางยังมีสูง จึงคาดว่าผลการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน ภาษี และค่าเสื่อม (EBITDA) จะเป็นบวกมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยหาก EBIDA หักลบค่าเช่าและเงินสด ย้อนหลัง 12 เดือน คงเหลือมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท จะเข้าเกณฑ์ยื่นขอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ

สำหรับการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการทำไปแล้ว 70% ยังเหลือจัดหาเงินทุนใหม่ที่รอประเมินว่ายังจำเป็นแค่ไหน เพราะปัจจุบันมีเงินสดสะสมเข้าต่อเนื่อง ดังนั้นหากกลางปี 2566 ผลการดำเนินงานยังบวกอาจไม่จำเป็นเร่งด่วนจัดหาทุนใหม่ หรืออาจหาเพียง 1.25 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ที่ปรึกษาทางการเงินจะวิเคราะห์การทำแผนจัดหาวงเงิน ซึ่งเลือกระหว่างการจัดหาสินเชื่อใหม่แบบสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) ไม่เกิน 6 ปี ไม่เกิน 1.25 หมื่นล้านบาท หรือการจัดหาสินเชื่อหมุนเวียนในวงเงินไม่เกิน 1.25 หมื่นล้านบาท แนวทางใดแนวทางหนึ่ง เพื่อไม่ให้กระทบการเพิ่มทุนใหม่

นายชาย กล่าวว่า คาดว่าทั้งปี 2566 อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (เคบิ้นแฟกเตอร์) จะคงอยู่ในระดับ 80% ส่วนรายได้ในปีนี้คาดว่าจะเติบโตราว 40% จากปี 2565 ที่คาดการณ์รายได้ 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งเริ่มกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ที่การบินไทยมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 1.6-1.7 แสนล้านบาทต่อปี ด้านความสามารถทำการบินขณะนี้การบินไทยเริ่มกลับมาทำการบินคิดเป็น 65% ของเส้นทางบินทั้งหมด หากเทียบกับปี 2562