posttoday

ตั้งเป้าขึ้นเป็น Top 3 Digital Banking Platform

15 มีนาคม 2566

ทีเอ็มบีธนชาต กางแผนธุรกิจปี 66 เดินหน้าพันธกิจในการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยการนำจุดแข็งและความแข็งแกร่งของการควบรวมกิจการมาต่อยอดพัฒนาโซลูชั่นทางการเงิน พร้อมคาดภายในสิ้นปีนี้มีรายได้อยู่ที่ประมาณ 27,000 ล้านบาท เติบโต 10%

นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ทีเอ็มบีธนชาต เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานในปี 2566 ว่า ธนาคารยังคงเดินหน้าพันธกิจในการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยการนำจุดแข็งและความแข็งแกร่งของการควบรวมกิจการมาต่อยอดพัฒนาโซลูชั่นทางการเงิน รวมถึงการยกระดับการให้บริการและพัฒนานวัตกรรม ผ่านแอปพลิเคชั่น ttb touch เวอร์ชั่นใหม่ และในส่วนของ Ecosystem Play ได้เตรียมผลิตภัณฑ์ บริการ และโซลูชั่นให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้า Wealth พนักงานเงินเดือน คนมีรถ และคนมีบ้าน 

“จากภาพรวมเศรษฐกิจที่ประเมินว่ามีแนวโน้มฟื้นตัวจากอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีอัตราการขยายของจีดีพีอยู่ที่ประมาณ 3-4% โดยเป็นผลมาจากการสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย ส่งผลทำให้เกิดการประเทศ ขณะเดียวกันจากการที่เปิดประเทศทำให้ภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นกลไกหลักในการผลักให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าต่อไปได้มีการขยายตัวมากยิ่งขึ้น คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวประมาณ 29 ล้านคน”นายฐากร กล่าว 

สำหรับในปีนี้ธนาคารมีเป้าหามายในการเป็นธนาคารที่ลูกค้าเลือกใช้ผ่าน 4 กลยุทธ์ หลัก ได้แก่ 1.กลยุทธ์การขยายฐานลูกค้าบุคคล 2.กลยุทธ์การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากความต้องการของลูกค้าเพื่อสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น 3.กลยุทธ์ในการยกระดับช่องทางการขายและการให้บริการ ซึ่งธนาคารมีเป้าหมายใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อให้เป็น Top 3 Digital Banking Platform โดยในปัจจุบันฐานลูกค้าบนแอป ttb touch มีอยู่กว่า 5 ล้านคน โดยในปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนผู้ใช้แอปเป็น 6.5 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 30% และกลยุทธ์ที่ 4 ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยการใช้ข้อมูล 

อย่างไรก็ตามในปี 2566 นี้ ธนาคารได้ตั้งเป้าหมายของกลุ่มลูกค้าส่วนบุคคล โดยคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีรายได้เติบโต 10% หรือประมาณ 27,000 ล้านบาท ทั้งนี้คาดว่าจะมีจำนวนเงินฝาก 1,050,000 ล้านบาท สินเชื่อบ้านมและบ้านแลกเงิน 68,000 ล้านบาท จำนวนบัตรเครดิต 300,000 ใบ ยอดใช้จ่ายบัตรเครดิต 150,000 ล้านบาท สินเชื่อส่วนบุคคล 35,000 ล้านบาท มีจำนวนบัญชีในส่วนของสินเชื่อบุคคล 180,000 บัญชี ลูกค้า ttb touch 6.5 ล้านราย 

ในปีที่ผ่านมาธนาคารมียอดเงินฝาก และยอดสินเชื่อของลูกค้าบุคคล โดยมีเงินฝากอยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท ยอดสินเชื่อบัตรเครดิต 31,000 ล้านบาท สินเชื่อบ้านและบ้านแลกเงิน 320,000 ล้านบาท สินเชื่อส่วนบุคคล 32,000 ล้านบาท สินเชื่อรถยนต์ 400,000 ล้านบาท ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจขนาดเล็ก 36,000 ล้านบาท 

ขณะเดียวกันธนาคารมีจำนวนลูกค้าเงินฝากรวม 7 ล้านคน ลูกค้าดิจิทัล 5 ล้านคน ลูกค้าบัตรเครดิต 890,000 คนลูกค้าสินเชื่อบ้าน 160,000 คน ลูกค้าสินเชื่อรถ 1.1 ล้านคน ลูกค้าสินเชื่อบุคคล 450,000 คน ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจขนาดเล็ก 15,000 คน ผู้ถือกรมธรรม์ 2 ล้านคน และ ลูกค้ากองทุน 360,000 คน อย่างไรก็ตามปีที่ผ่านมาธนาคารที่มีรายได้อยู่ที่ 25,000 ล้านบาท เติบโต 14%

นายฐากร กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณี SVB Bank ว่า ในมุมมองของตนเองเชื่อว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินของไม่ได้เยอะมาก เนื่องจาก SVB จะลงทุน ให้สินเชื่อให้เงินกับทาง Venture Cap. ฟินเทค หรือ สตาร์ทอัพ ค่อนข้างมาก จากที่เราเห็นสถาบันการเงินไทยในรูปของการลงทุนใน BC หรือการให้เงินลงทุนกับสตาร์ทอัพจะไม่ได้เยอะมาก ซึ่งรูปแบบการลงทุนของธนาคารพาณิชย์จะไปลงทุนใน ตราสาร เป็นส่วนมาก ซึ่งไม่ได้เยอะมาก ในขณะเดียวกันสถาบันการเงินไปเกี่ยวข้องกับเรื่องดิจิทัลแอสเสทมีปริมาณค่อนข้างน้อยมาก ดังนั้นแล้วความเสี่ยงอาจจะไม่ค่อยมีผลกระทบ

ทั้งนี้การที่ SVB ที่อาจจะต้องปรับกิจการ ซึ่งการสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเงินไทยกับ SVB ไม่ได้เกี่ยวข้องกันเท่าไร ซึ่งที่อาจจะ Panic กันบางเล็กน้อยในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา และวันนี้เราได้เห็นแล้วว่าตลาดหุ้นกลับมาสู่สภาวะปกติแล้ว 

“จากกรณี SVB ในแง่ของสถาบันการเงิน ต้องมองดูในส่วนของการลงทุน รูปแบบ พื้นฐานการลงทุน การฝากเงิน หรือรูปแบบ กลยุทธ์ในการลงทุนของแต่ละธนาคารมีความแตกต่างกัน ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องปรับ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่จำเป็นคือการบริหารความเสี่ยง ดูในเรื่องกองทุน ฐานลูกค้า กับความเสี่ยงใหม่ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเป็นสิ่งที่ควรกำลังมามองมากกว่า”นายฐากร กล่าวทิ้งท้าย