posttoday

เอกชนไทย แนะปรับโมเดลธุรกิจรับมือการแข่งขันด้านภูมิรัฐศาสตร์

24 มกราคม 2566

“เอกชน” ไทยเตรียมรับมือปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ปรับโมเดลธุรกิจ “เอ็กซิมแบงก์” ชูสมการ 3 กิ๊ก บริหารความเสี่ยงธุรกิจ “หอการค้า” แนะธุรกิจออกจากคอมฟอร์ตโซน เตรียมรับมือโลกแบ่งขั้ว “สมาคมนายจ้างอิเล็กฯ” แนะใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของอุตสาหกรรมในไทย รับมือเงินเฟื้อ

23 ม.ค.  “กรุงเทพธุรกิจ” จัดสัมมนาหัวข้อ “Geopolitics : The Big Challenge for Business โลกแบ่งขั้ว ธุรกิจพลิกเกม” โดยมีภาครัฐและเอกชน ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองการดำเนินธุรกิจ

เอกชนไทย แนะปรับโมเดลธุรกิจรับมือการแข่งขันด้านภูมิรัฐศาสตร์

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน ความขัดแย้งระหว่างจีน-ไต้หวัน รวมถึงความขัดแย้งทางนโยบายการค้าระหว่างประเทศ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน ห่วงโซ่อุปทานด้านต่างๆ ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่ไทยต้องปรับตัว ดังนี้

1. เพิ่มพันธมิตรทางการค้า สนับสนุนกติกาการค้าโลก

2. รวมกลุ่มอาเซียนเพิ่มอำนาจต่อรอง ใช้ประโยชน์จากภูมิรัฐศาสตร์

3. แสวงหาโอกาสภายใต้วิกฤต พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ดึงดูดการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน หรือสินค้าที่ผลิตมีการทำลายป่าหรือไม่

4. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จาก FTA ที่มีอยู่ และเข้าร่วมข้อตกลงที่เป็นประโยชน์กับไทย 

เอกชนไทย แนะปรับโมเดลธุรกิจรับมือการแข่งขันด้านภูมิรัฐศาสตร์

ขณะที่ นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า สหรัฐกับจีนเหมือนสมการครอบครัว เช่น การแต่งงาน 10 ปีมีลูก 3 คน แล้วเกิดการหย่าร้างแต่ไม่ถึงกับแตกหัก ดังนั้น สิ่งที่เห็น คือ ความย้อนแย้งหลายอย่าง เช่น เกลียดกันแต่ขาดกันไม่ได้

สหรัฐสั่งซื้อสินค้าจากจีน จีนซื้อเทคโนโลยีจากสหรัฐสูงถึง 30-40% อีกทั้งธุรกิจของ 2 ประเทศยังเปิดให้บริการได้ ซึ่งแนวทางการดำเนินธุรกิจควรบริหารความเสี่ยง ไม่ควรถือค่าเงินไว้เพียงค่าเงินเดียว จึงขอเปรียบสมการ 3 กิ๊ก 

1.กิ๊กด้านการเงิน เพราะเราไม่สามารถยึดโยงบ้านใหญ่ได้บ้านเดียว ดังนั้น ต้องมีเงินหลายสกุลทั้งหยวน หรือ ยูโร 

2.กิ๊กในมุมของฐานการผลิต การทำธุรกิจจะต้องมีฐานการผลิตมากกว่า 2 ประเทศ  

3. กิ๊กด้านการตลาด เพราะตลาดหลักไม่ใช่คำตอบอีกต่อไปแล้ว จะเห็นได้จากการเติบโตของ GDP โลกไม่เกิน 2% แล้ว โดยตลาดที่จะเป็นกิ๊กได้ดีตอนนี้ คือ เอเชียใต้ และตลาดอาเซียน

ทั้งนี้ ยังต้องผลักทุนไทยไปต่างประเทศ ซึ่ง EXIM BANK ร่วมมือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สนับสนุนธุรกิจไทยไปลงทุนต่างประเทศ บริษัทใหญ่ไม่ได้มีฐานการผลิตแค่ในไทยเท่านั้น แต่ยังขยายสาขานอกประเทศ ซึ่งแตกต่างจาก 20-30 ปีที่ผ่านมา ที่เน้นดึงเงินลงทุนเข้าไทย ดังนั้น การทำธุรกิจจากนี้ต้องสร้างสมดุลทั้งการดึงทุนต่างชาติและการสร้าง ecosystem ในประเทศ 

นอกจากนี้ ยังเสนอให้ผู้ประกอบการไทยพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แย่งตลาดจากจีน หรือผันตัวเป็นมือที่ 3 อย่างมีชั้นเชิง

เอกชนไทย แนะปรับโมเดลธุรกิจรับมือการแข่งขันด้านภูมิรัฐศาสตร์

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า หลังสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เริ่มชัดเจนขึ้น ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นผลจากราคาพลังงานหรืออัตราเงินเฟ้อจนกระทบผู้นำเข้าและส่งออก ซึ่งธุรกิจต้องวางแผนหาทางออกไว้ให้พร้อมเสมอ

6 ประเด็นที่ภาคเอกชนไทยต้องเจอในปี 2566 หลังธุรกิจเริ่มฟื้นตัวจากโควิด-19 และสงครามรัสเซีย ยูเครน

1. ธุรกิจที่เกี่ยวกับสังคมคาร์บอนต่ำ เช่น ตลาดคาร์บอนเครดิต จะมีการซื้อขายมากขึ้น ถือเป็นโอกาสของไทยที่ควรคว้าไว้ และปลูกป่าเพิ่มขึ้นเพื่อดูดซับคาร์บอน

2.ราคาสินค้ายังมีต้นทุนสูง

3.อัตราดอกเบี้ยยังสูง จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับนโยบายแก้ปัญหาเงินเฟ้อ

4.เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ผู้ผลิตไม่ควรมีการสต็อกสินค้ามากเกินไปเพราะเสี่ยงที่จะไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้หมด

5.การท่องเที่ยวฟื้นตัว และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องจะมีการเติบโต และจ้างงานเพิ่ม

6.ต่างชาติบางส่วนจะเริ่มกลับมารักษาพยาบาลในไทย จากภาพลักษ์และคุณภาพการให้บริการด้านการแพทย์ที่มีชื่อเสียง

ขณะที่ นายสัมพันธ์ ศิลปนาฎ นายกสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า ทางออกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ท่ามกลางโลกที่มีความขัดแย้งมีสิ่งสำคัญที่ต้องโฟกัส 3 ประเด็นคือ 

ภาวะเงินเฟ้อ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ จุดแข็งของไทยคือด้านความน่าเชื่อถือ สามารถปรับตัวจากวิกฤตและอยู่รอดได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง

เราควรโฟกัสจุดแข็งของตนเองไปพร้อมกับการรักษาพันธมิตร เล่นในตลาที่เติบโตได้ต่อเนื่อง ไม่ต้องใช้ทุนมากและไม่ต้องยุ่งกับการเมืองหรือความขัดแย้ง รวมถึงต้องมีความชัดเจนมากขึ้นด้านความยั่งยืนซึ่งภาครัฐอาจต้องเข้ามาช่วย

ขณะที่อีกประเด็นที่สำคัญ ต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้ โดยเฉพาะในโมเดลธุรกิจใหม่ๆ และก้าวไปสู่พลังงานสีเขียวของอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม การดึงการลงทุนเข้ามาในประเทศจำนวนมากต้องมองภาพรวมว่าประเทศได้อะไร มองถึงการสร้างประโยชน์ไปสู่ภาคส่วนอื่น ซึ่งที่ผ่านมาไทยหารือยุทธ์ศาสตร์และกลยุทธ์ไปไกลมาก แต่ยังติดกับดักการลงมือปฏิบัติ และไม่มีการติดตามให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม