ย้อนมติ ก.ต.ย้ำชัด2ผู้พิพากษาเอื้อประโยชน์คู่ความ คดีตระกูลณรงค์เดช
ย้อนมติ ก.ต.สอบวินัยร้ายแรงผู้พิพากษาระดับอธิบดีและรองอธิบดี เอื้อประโยชน์ให้คู่ความคดีตระกูลณรงค์เดช ปมคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวห้ามจ่ายเงินปันผลนานกว่า 5 ปี "ณพ ณรงค์เดช"โพสต์เฟซบุ๊กทำให้ได้รับความเสียหายมหาศาล
กรณีนางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ประธานศาลฎีกา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ครั้งที่ 4/2568 เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2568โดยมีมติสอบวินัยร้ายแรงผู้พิพากษาระดับอธิบดีและรองอธิบดี 2 ราย ฐานเอื้อประโยชน์แก่คู่ความในคดีของครอบครัวตระกูลดัง ส่งผลให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามจ่ายเงินปันผลนานกว่า 5 ปี
ต่อมา เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2568 นายณพ ณรงค์เดช ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) โพสต์เฟซบุ๊ก ยอมรับว่าเคยร้องเรียน2ผู้พิพากษา ตั้งแต่ปี 2565 โดยระบุว่า ศาลออกคำสั่งอายัดเงินปันผลโดยไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน และเกินขอบเขตข้อพิพาทจริง ทำให้บริษัทได้รับความเสียหายร้ายแรง
นายนพ ระบุว่า อธิบดีผู้พิพากษาในคดีนี้มีความสัมพันธ์กับฝ่ายคู่ความ และมีพฤติกรรมมอบหมายรองอธิบดีฯ ดูแลคดีแทน จึงร้องเรียนต่อ ก.ต. เพื่อขอความเป็นธรรมในที่สุดก็ชนะคดี แต่ยังไม่ได้รับเงินปันผลเนื่องจากคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวที่ออกไปก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ เมื่อย้อนไปในการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ครั้งที่ 4/2568 เมื่อวันที่27 มกราคม 2568 ปรากฎเป็นเอกสารข่าว มีการประชุม เมื่อเวลา 13.30น. ณ ห้องประชุมราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ชั้น3 อาคารศาลยุติธรรม ที่มีนางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ประธานศาลฎีกา เป็นประธานการประชุมระบุพฤติกรรม2ผู้พิพากษาในข้อ8และ9 มีเนื้อหาดังนี้ (คลิ๊กอ่านเพิ่มเติม)
8.พิจารณารายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงข้าราชการตุลาการ กรณีให้คำปรึกษาคดีความ
ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ซึ่งพฤติการณ์เกินเลยไปกว่าการให้คำปรึกษาคดีความโดยทั่วไป และเกินความเหมาะสมที่ข้าราชการตุลาการควรพึงกระทำได้ ทั้งไปร่วมนั่งพิจารณาคดีโดยไกล่เกลี่ยคู่ความอันอาจทำให้คู่ความ อีกฝ่ายสงสัยในความเป็นกลาง อันเป็นการไม่ถือและปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนและประเพณีปฏิบัติของทางทาชการและจริยธรรมของข้าราชการตุลาการ ตามที่ ก.ต. กำหนด ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ้ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 62 และประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ ข้อ 31 วรรคสอง เป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง เห็นควรลงโทษภาคทัณฑ์
9. พิจารณารายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติม มีมติเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหา จำนวน 2 ราย มีมูลเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง.