posttoday

คลัง เล็งอัดซอฟต์โลน 50,000 ล้านช่วยน้ำท่วมภาคใต้

01 ธันวาคม 2567

ลวรณ ปลัดคลัง เผยเตรียมใช้เกณฑ์ช่วยเหลือผู้สบภัยน้ำท่วมภาคเหนือ อุ้มผู้ได้รับผลกระทบภาคใต้ วงเงิน 5 หมื่นล้าน ชี้หากไม่เพียงพอพร้อมเพิ่มอีก 5.หมื่นล้านบาท

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง เร่งดำเนินการเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ โดยจะใช้ภาคเหนือเป็นโมเดลในการดำเนินการ สำหรับมาตรการช่วยเหลือนั้นจะเป็นกรอบเดียวกันกับภาคเหนือ ส่วนฟื้นฟูภายหลังน้ำท่วม เชื่อว่ามาตรการซอฟต์โลนจะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์มากที่สุด 


ให้ทุกคนรับฟังความต้องการของประชาชน ผู้ประกอบการว่ายังต้องการอะไร เหลือตรงไหนที่กระทรวงการคลัง แบงก์รัฐเข้าไปช่วยได้ก็ยินดี สำหรับซอฟต์โลนอัตราดอกเบี้ยจะแล้วแต่เครดิตของลูกหนี้ หรือ ผู้กู้ แต่โดยปกติแล้ว จะถูกลงประมาณ 3-4% โดยสำหรับภาคใต้ถ้ายังเหลือก็ใช้วงเงิน 50,000 ล้านบาทจากซอฟต์โลนตรงนี้ได้ แต่ที่ได้คุยกับธนาคารออมสินไว้ว่าวันนี้ตั้งวงเงินเท่านี้ และยินดีที่จะเพิ่มได้อีก 50,000 ล้านบาท หากมีความต้องการที่มาก เชื่อว่าวงเงินนี้สามารถไปใช้ที่ทางใต้ได้ด้วย

ขณะนี้พื้นที่ภาคเหนือ อยู่ในช่วงของการฟื้นฟูในเรื่องของเศรษฐกิจ ซึ่งแม่สาย ถือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนที่สำคัญ โดยวันนี้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่รับทราบปัญหา รวมถึงการช่วยเหลือของภาครัฐที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 8 แห่งที่ผ่านมา ได้ออกมาตรการช่วยเหลือทั้งพักเงินต้น พักดอกเบี้ย ลดดอกเบี้ย ขยายเวลาการชำระหนี้ สินเชื่อฉุกเฉิน สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (SoftLoan) ซึ่งเป็นความร่วมมือของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่ออกมาเยียวยา พี่น้องประชาชนได้อย่างรวดเร็ว

โดยการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมามาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 8 แห่ง กระทรวงการคลังยังได้มีมาตรการเสริมสภาพคล่อง สำหรับผู้ประสบอุทกภัย ครอบคลุมทั้งผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น พ่อค้า แม่ค้า หาบเร่แผงลอย เป็นต้น โดยจัดสรรวงเงินจำนวน 50,000 ล้านบาท จากโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up ของธนาคารออมสินเพื่อนำมาช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน สำหรับมาฟื้นฟูกิจการเพื่อประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจได้ต่อไปภายหลังจากสถานการณ์คลี่คลายลง

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประสบอุทกภัยได้รับสินเชื่อตามโครงการดังกล่าวรวมถึงโครงการสินเชื่ออื่น ๆ จากสถาบันการเงินได้อย่างเพียงพอ รวมถึงสร้างความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน บสย. ได้จัดทำโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ฟื้นฟู No One Left Behind วงเงินค้ำประกัน 1,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอีกด้วย

ทั้งนี้การประชุมครม.เมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติ 2 มาตรการล่าสุด คือ  มาตรการลดหย่อนที่มีภาระในการซ่อมบ้าน ซ่อมรถ ซึ่งกระทรวงการคลัง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ จะต้องพิจารณาเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ต่อเนื่องหลังจากนี้ ยังขาดตรงไหนหรือไม่ ซึ่งจะมีมาตรการออกมาให้ทันอย่างแน่นอน

จากมาตรการที่กระทรวงการคลังร่วมกับสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 8 แห่ง ได้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างเร่งด่วนในตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา มีประชาชนที่ประสบอุทกภัยได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 8 แห่ง เป็นจำนวนมากกว่า 740,000 ราย รวมยอดหนี้มากกว่า 94,000 ล้านบาท สำหรับการดำเนินมาตรการด้านการเงินในระยะต่อไปจะเป็นการเน้นการเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของการฟื้นฟูและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้แก่ประชาชนสามารถกลับมามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน

สำหรับการค้าชายแดน ยืนยันว่า ธุรกิจยังจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือ โดยเฉพาะเงินทุนที่จะต้องเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ซึ่งยืนยันว่า ซอฟต์โลนจะเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่ โดยปริมาณการค้าจะสะดุดไปบ้างในช่วงอุทกภัย เพราะเป็นจุดสำคัญของการค้าชายแดน ซึ่งเชื่อว่าหากฟื้นฟูได้เร็ว ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการจะได้รับประโยชน์อย่างมาก

ข่าวล่าสุด

คลัง-ธอส. อัดฉีด 1.5 แสนล้าน กระตุ้นอสังหาฯ ครึ่งปีหลัง