posttoday

ราคาทองรายสัปดาห์ฉุดไม่อยู่สงครามอิสราเอล-ฮามาสดันทะลุ2,000ดอลลาร์

30 ตุลาคม 2566

ฮั่วเซ่งเฮงมองราคาทองคำฉุดไม่อยู่ จากปัจจัยสงครามอิสราเอล-ฮามาเดือด คู่มองเฟดคงดอกเบี้ย ดันราคาทองคำตลาดโลกขึ้นต่อทะลุ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ฝั่งศูนย์วิจัยทองคำกาง GRC Gold Survey ชี้ผู้เชี่ยวชาญเกือบ 1 ใน 3 มองทองเป็นขาขึ้น

ทิศทางราคาทองรายสัปดาห์ (30 ตุลาคมถึง 4 พฤศจิกายน 2566) ในมุมมองของฮั่วเซ่งเฮงระบุว่าราคาทองคำยังขึ้นต่อ  จาก 2 ปัจจัยหลักที่มองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยเท่าเดิม ขณะที่สงครามอิสราเอล–ฮามาสส่อแววยกระดับกว่าเดิม

หลังจากราคาทองคำทะลุแนวต้านสำคัญทางจิตวิทยาที่ 2,000 ดอลลาร์ได้  ทำให้ราคาทองคำทางด้านเทคนิคคาดปรับขึ้นได้ต่อเนื่อง ซึ่งสัปดาห์นี้สหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงาน ได้แก่ การจ้างงานภาคเอกชนทั่วประเทศเดือนต.ค. ของ ADP และการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนต.ค. นอกจากนี้ติดตามการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) และการแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐ

โดยวิเคราะห์ราคาทองสัปดาห์นี้มีแนวรับอยู่ที่  1,980 ดอลลาร์ และ 1,970 ดอลลาร์ ขณะที่มีแนวต้าน 2,020 ดอลลาร์ และแนวต้าน 2,050 ดอลลาร์ ส่วนราคาทองแท่งในประเทศมีแนวรับ 34,000 บาท และ 33,800 บาท ขณะที่มีแนวต้านที่ 34,400 บาท และ 34,600 บาท

อย่างไรก็ตามสำหรับปัจจัยด้าน Gold Bullish ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตภาคธนาคาร และความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ สงครามยูเครน-รัสเซีย สงครามอิสราเอล-ฮามาส ส่วนปัจจัย Gold Bearish คือ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอยู่ระดับสูงที่ยาวนานขึ้น

ราคาทองคำคาดขึ้นต่อ จากเฟดคงดอกเบี้ย–สงครามอิสราเอล–กลุ่มฮามาส

เมื่อวันศุกร์ราคาทองคำปรับตัวขึ้นยืนเหนือ 2,000 ดอลลาร์ ซึ่งราคาทองคำปรับตัวขึ้นไประดับสูงสุดที่ 2,009 ดอลลาร์ เนื่องจากความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นของสงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาส หลังจากที่อิสราเอลได้ขยายขอบเขตการโจมตีทั้งทางอากาศและภาคพื้นดินในฉนวนกาซา ขณะที่สหรัฐโจมตีกองกำลังอิหร่านในซีเรีย ทำให้มีแรงซื้อทองคำเข้ามา ซึ่งสัปดาห์นี้ยังคงต้องติดตามอีกหลายประเด็นที่อาจหนุนราคาทองคำให้ปรับตัวขึ้นต่อ

ประเด็นแรก การประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐที่เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ แม้ว่าดัชนี PCE พื้นฐานปรับขึ้น 3.7% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ แต่หากพิจารณาข้อมูลอัตราเงินเฟ้อในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ทั้ง CPI PPI และ Core PCE จะเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง ทำให้เกิดการคาดการณ์ถึงความกังวลว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ทางฮั่วเซ่งเฮงเคยคาดการณ์ในบทความครั้งก่อน ๆ ไว้แล้วว่า เฟดไม่น่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในปีนี้ ซึ่งการประชุมวันที่ 25-26 ก.ค. ที่ผ่านมานั้น ที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25%-5.50% เป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายของวงจรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในรอบนี้ แต่อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง จะส่งผลให้เฟดตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงระยะเวลายาวนานมากขึ้น

ทั้งนี้ในการประชุมเฟดในวันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย. ในสัปดาห์นี้ จึงยังคงยืนยันการคาดการณ์เดิมว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยเท่าเดิมที่ 5.25-5.50% ซึ่งการประกาศคงอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะเป็นแรงหนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นอีกได้ในสัปดาห์นี้

ประเด็นต่อมาที่ยังคงต้องติดตาม คือ สงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังจากที่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา อิสราเอลยกระดับบุกภาคพื้นดินและโจมตีทางอากาศถล่มฉนวนกาซาครั้งใหญ่ที่สุด ถึงแม้ว่าเป็นการถล่มโจมตีกลุ่มฮามาสอย่างหนักที่สุด แต่การโจมตีนั้นอาจจะไม่ประสบความสำเร็จได้มากนัก

ด้วยอิสราเอลได้โจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมสาธารณะ ทำให้ฉนวนกาซาขาดการสื่อสารเกือบทั้งหมด ซึ่งต้องใช้โทรศัพท์ผ่านดาวเทียมในการติดต่อเท่านั้น นั้นก็คือแผนการของอิสราเอล เพราะอิสราเอลมีอุปกรณ์ที่สามารถระบุตำแหน่งและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับดาวเทียมได้อย่างแม่นยำพร้อมควบคุมขีปนาวุธจากอากาศสู่พื้นดินได้

แต่ดูเหมือนด้านกลุ่มฮามาสจะคาดการณ์ไว้แล้วและเตรียมพร้อมไว้อย่างดี เพราะกลุ่มฮามาสอ้างว่ามีอุปกรณ์สื่อสารในอุโมงค์ที่ลึกลงไปในฉนวนกาซา โดยมีเกราะป้องกันแม่เหล็กไฟฟ้าที่แข็งแกร่ง เพื่อป้องกันการตรวจจับและการสกัดกั้นสัญญาณไว้อย่างดี ทำให้คาดว่าสงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาสมีความเสี่ยงที่จะยืดเยื้อ และส่อแววที่จะทวีคูณความรุนแรงมากขึ้น

โดยเฉพาะสหรัฐได้มีการโจมตีกองกำลังอิหร่านในซีเรีย ทำให้มีความเสี่ยงที่แนวโน้มว่าสงครามอาจบานปลายยิ่งขึ้น จึงมีโอกาสที่ราคาทองคำปรับตัวขึ้นได้ต่อ และหากว่าสงครามมีความบานปลายมากขึ้นไปสู่ตะวันออกกลางก็จะยิ่งดันให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดที่เคยทำไว้ในปีนี้

ส่วนผลสำรวจมุมมองต่อทิศทางราคาทองคำในประเทศรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 31 ต.ค. – 4 พ.ย. 65 จากการสำรวจ GRC Gold Survey โดย ศูนย์วิจัยทองคำ ระบุว่า 14 ผู้เชี่ยวชาญในตลาดทองคำที่ได้มีส่วนร่วมตอบแบบสำรวจ ในจำนวนนี้มี 4 ราย หรือเทียบเป็น 29% คาดว่าราคาทองคำในสัปดาห์หน้าจะปรับเพิ่มขึ้น ส่วนจำนวน 6 ราย หรือเทียบเป็น 42% คาดว่าราคาทองคำจะลดลง และ จำนวน 4 ราย หรือเทียบเป็น 29% คาดว่าราคาทองคำจะใกล้เคียงกับสัปดาห์ที่ผ่านมา

สำหรับนักลงทุนทองคำ ได้เข้าร่วมตอบแบบสำรวจ จำนวน 323 ราย ในจำนวนนี้มี 126 ราย หรือเทียบเป็น 39% คาดว่าราคาทองคำในประเทศของสัปดาห์หน้าจะปรับเพิ่มขึ้น ส่วนจำนวน 158 ราย หรือเทียบเป็น 49% คาดว่าราคาทองคำจะลดลง และ จำนวน 39 ราย หรือเทียบเป็น 12% คาดว่าราคาทองคำจะใกล้เคียงกับสัปดาห์ที่ผ่านมา

สถานการณ์ราคาทองคำ

ราคาทองคำแท่งในประเทศ 96.5% ตามประกาศสมาคมค้าทองคำ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 29,650 – 29,850 บาท ต่อบาททองคำ โดยราคาทองคำปิดอยู่ที่ระดับ 29,650 บาท ต่อบาททองคำ ปรับลดลง 150 เมื่อเปรียบเทียบกับราคาปิดของสัปดาห์ก่อนหน้า (สัปดาห์ก่อนหน้าปิดที่ 29,800 บาท) ดูรายงาน GRC ฉบับก่อนหน้า

สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตาม

  1. การประชุมกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ในระหว่างวันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2565 โดยคาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ซึ่งจะถือเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% จำนวน 5 ครั้งติดต่อกัน
  2. การประชุมกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 โดยคาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1% หลังมีรายงานว่ารัฐบาลของ นายริชี ซูนัค ได้เลื่อนการประกาศแผนการใช้จ่ายของรัฐบาล และการจัดเก็บภาษีออกไปเป็นกลางเดือน พฤศจิกายน 2565
  3. รายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิตและบริการ, ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชน, ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร รวมถึงอัตราการว่างงาน เดือน ตุลาคม 2565

ผลสำรวจมุมมองต่อทิศทางราคาทองคำรายสัปดาห์ 31 ต.ค. – 4 พ.ย. 65 | GRC Gold Survey