posttoday

ธพว.โชว์ผลงานครึ่งปีแรก เข้าเป้า มั่นใจทั้งปีปล่อยสินเชื่อใหม่ 7 หมื่นล้าน

26 กรกฎาคม 2566

ธพว.เผยผลดำเนินงานครึ่งปีแรกเข้าเป้า เติมทุนหนุน SMEs กว่า 3.2 หมื่นล้าน ดัน 6 เดือน กำไรสะสม 309 ล้าน NPL ลดลงกว่า 20.88% ตั้งเป้าปีนี้ ปล่อยสินเชื่อใหม่ 7 หมื่นล้าน สร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 3.2 แสนล้านบาท

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยผลการดำเนินงานธนาคาร ในครึ่งแรกปี 2566 ที่ผ่านมา (ม.ค.-มิ.ย.66) ว่า  สามารถสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงกระบวนการ “เติมทุนคู่พัฒนา” เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดย “ด้านเติมทุน” พาเข้าถึงแหล่งเงินทุนรวมมากกว่า 32,000 ล้านบาท สร้างประโยชน์ช่วยให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยกว่า 147,000 ล้านบาท รักษาการจ้างงานกว่า 34,000 ราย  ทั้งนี้  การสนับสนุนสินเชื่อดังกล่าว จำนวนกว่า 4,000 ล้านบาท เป็นการพาเข้าถึงสินเชื่อ BCG Loan  ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการยกระดับธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
 

 

“ด้านพัฒนา”  ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพิ่มศักยภาพส่งเสริมผู้ประกอบการเติบโตตามแนวทาง ESG ผ่านโครงการต่างๆ เช่น  จับคู่ธุรกิจ  เพิ่มช่องทางตลาด Workshop ในหัวข้อที่จำเป็นและอยู่ในความสนใจของผู้ประกอบการ เช่น ทำตลาดออนไลน์ ระบบบัญชี มาตรฐานการผลิต ฯลฯ  มีผู้ประกอบการเข้าร่วมและได้รับประโยชน์กว่า 7,650 ราย  

 

ขณะที่ เป้าหมายปีนี้ (2566) จะผลักดันผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนกว่า 70,000 ล้านบาท คาดจะก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 320,600 ล้านบาท รักษาการจ้างงานได้ประมาณ 88,980 ราย  ควบคู่กับให้บริการ “พัฒนา” ผ่านโครงการ SME D Coach ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชน ช่วยยกระดับเพิ่มศักยภาพแก่ผู้ประกอบการกว่า 15,000 ราย
 

 

สำหรับผลการดำเนินงานของ SME D Bank ในช่วง 6 เดือนแรก ปี 2566 มีกำไรสุทธิสะสมประมาณ 309 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 92 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้นประมาณ 42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (2565) ขณะที่ หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปรับตัวลดลง 20.88% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  เนื่องจากธนาคารมีการบริหารจัดการ NPL อย่างมีประสิทธิภาพ ติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด ควบคู่บริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย (NPA) สม่ำเสมอ ส่งผลให้ปัจจุบัน เหลือ  NPL ในระบบเพียงประมาณ 10.51% และสิ้นปีนี้ คาดเหลือไม่เกิน 9.50% ตามเป้าหมายที่วางไว้

 

นอกจากนั้น ธนาคารมีแนวทางบริหารจัดการและช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบางประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นรายอ่อนแอที่น่ากังวลจริงๆ ประมาณ 2,000 ล้านบาท  ซึ่งเป็นระดับที่ธนาคารสามารถบริหารจัดการได้ ผ่านกระบวนการส่ง “ทีมพิเศษ” ประกอบด้วยทีมพัฒนาผู้ประกอบการและทีมพัฒนาคุณภาพสินเชื่อเข้าประกบติดตามดูแลลูกค้ารายอ่อนแอทุกรายอย่างใกล้ชิด เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำพร้อมช่วยเหลืออย่างยั่งยืนตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เช่น วินิจฉัยปัญหาธุรกิจ ประเมินศักยภาพกิจการ ให้รู้ถึงปัญหาที่แท้จริง พร้อมพาเข้าสู่กระบวนการเติมองค์ความรู้ในด้านที่กิจการยังขาด ควบคู่ช่วยเพิ่มช่องทางขยายตลาด สร้างรายได้เพิ่มให้ลูกค้า ลดความเสี่ยงการเป็น NPL ในอนาคต