posttoday

สตาร์ทอัพสีส้ม: ก้าวต่อไปของเศรษฐกิจและสังคมไทย

30 พฤษภาคม 2566

TDRI เปรียบ พรรคก้าวไกล เหมือนสตาร์ทอัพไร้ประสบการณ์ เข้ามาแข่งกับธุรกิจยักษ์ใหญ่ แต่สามารถนำเสนอจุดอ่อนมาตอบสนองประชาชนได้ดี ชี้การเร่งรัดนโยบายพรรคตัวเองมากเกินไป กลายเป็นจุดอ่อนลดทอนกลไกลถ่วงดุลตรวจสอบ แนะดึงนโยบายพรรคร่วม-ฝ่ายค้านร่วมตอบสนองทุกคะแนนเสียง

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ได้รายงานผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งพรรคที่ได้รับเลือกเป็นอันดับหนึ่งได้แก่ พรรคก้าวไกล ได้รับคะแนนเสียง 151 ที่นั่งจาก 500 ที่นั่งหรือคิดเป็นร้อยละ 30.2 ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด โดยพรรคก้าวไกลได้รวบรวมเสียงจากพรรคการเมืองอื่นๆ เพื่อเข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาลกว่า 300 เสียง จึงเป็นตัวเต็งที่จะเข้ามาบริหารประเทศในระยะต่อไปจากนี้
    

บทความชิ้นนี้ จะนำเสนอมุมมองของผู้เขียนต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ภายใต้การบริหารงานของพรรคก้าวไกล ที่มีสีประจำพรรค คือ สีส้ม ว่าทิศทางการบริหารงานน่าจะเป็นอย่างไร และมีข้อเสนออะไรบ้างที่พรรคก้าวไกลควรจะคำนึงถึงในการบริหารจัดการเศรษฐกิจเมื่อเข้ามารับหน้าที่บริหารงาน
    

เมื่อกลับไปดูผลการเลือกตั้งแล้วนึกย้อนไปถึงการปราศรัยหาเสียง ผู้เขียนมีความรู้สึกว่าพรรคก้าวไกล เปรียบเสมือนธุรกิจสตาร์ทอัพ (Start Up) ที่เข้ามาแข่งขันกับธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่ครองพื้นที่เดิมๆ ผู้แทนจากพรรคก้าวไกลจำนวนมากเป็นคนรุ่นใหม่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการประเทศมาก่อน แต่ก็มีจุดแข็งของสตาร์ทอัพที่สามารถนำเสนอจุดอ่อน หรือ pain points ที่พรรคการเมืองเดิมๆ ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้ เช่น การปฏิรูปการทำงานของภาครัฐ การขยายสวัสดิการไปยังกลุ่มเปราะบางต่างๆ ทำให้ได้รับเลือกเป็นผู้แทนของประชาชนได้มากที่สุด

 

เมื่อพิจารณาในแง่มุมนี้ ก้าวต่อไปของเศรษฐกิจไทยจะถูกบริหารจัดการด้วยบริษัทแนวสตาร์ทอัพ ซึ่งจะมีแนวทางการทำงาน รวมไปถึงวัฒนธรรมการทำงานที่แตกต่างไปจากเดิม  โดยจุดเด่นของการบริหารแนวสตาร์อัพ คือ การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น ข้อเสนอในการจัดทำงบประมาณแบบเริ่มจากศูนย์ (zero-based budgeting) ทำให้ทุกหน่วยงานต้องกลับมาทบทวนอยู่เสมอว่าสิ่งที่ได้ดำเนินการไปในปีก่อนนั้น ประสบความสำเร็จขนาดไหน ควรจะดำเนินการต่อหรือพอแค่นี้ 
  

การเข้ามาแข่งขันของสตาร์ทอัพยังมีจุดเด่นอยู่ที่การเข้ามาตอบโจทย์จุดอ่อนหรือช่องว่างในเชิงนโยบายที่มีอยู่เดิม ซึ่งนั่นหมายถึง ความพยายามผลักดัน 300 นโยบายของพรรคก้าวไกลที่ถูกเสนอเข้ามาเพื่อปิดช่องว่างดังกล่าว ทำให้ประชาชนจะได้เห็นนโยบายใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นจำนวนมาก 
    

ท้ายที่สุด จุดเด่นของบริษัทสตาร์ทอัพ คือ การขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีพลังอันเปี่ยมล้น มีความคิดที่สร้างสรรค์ มีความคิดนอกกรอบ และการมุ่งเน้นที่ผลลัพธ์เป็นสำคัญ ซึ่งจะมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งมักจะต้องเผชิญกับอุปสรรคที่ทำให้เกิดความล่าช้าจากการทำงานในระบบราชการ และการทำงานตามระบบกฎระเบียบ/กฎหมายต่างๆ 

 

เมื่อพิจารณาดูในด้านตรงกันข้ามจะพบว่า การบริหารจัดการแบบใหม่ก็มีข้อพึงระวังเช่นเดียวกัน ดังนี้
    

หนึ่ง แม้ว่าข้อเสนอของสตาร์ทอัพจะน่าสนใจและตอบช่องว่างในเชิงนโยบายที่มีอยู่ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่านโยบายดังกล่าวจะเป็นนโยบายที่มีความเหมาะสมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเสมอไป ตัวอย่างเช่น นโยบายสุราเสรี ที่ในทางเศรษฐศาสตร์จะมองว่าเป็นสินค้าที่ส่งผลเสียต่อสังคม (Bad goods) ทำให้นโยบายที่ช่วยให้เกิดการแข่งขันกันผลิตสินค้าเหล่านี้มากขึ้น จะนำไปสู่การบริโภคสินค้าที่ไม่ดีเหล่านี้มากขึ้น และนำไปสู่ปัญหาสังคมที่มากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน
    

สอง บริษัทสตาร์ทอัพมีจุดอ่อนอยู่ที่การขาดประสบการณ์ ยังไม่เคยบริหารประเทศมาก่อน แต่มีไอเดียและมีพลังที่จะผลักดันนโยบายของพรรคตัวเองให้ได้มากที่สุด ซึ่งนำไปสู่จุดอ่อนอย่างน้อย 2 ประการ คือ การผลักดันนโยบายอาจจะรีบร้อนจนเกินไป โดยไปเร่งรัดการทำงานของระบบราชการ ระบบกฎระเบียบ/กฎหมาย หรือแม้แต่ในสภา ซึ่งแม้ว่าบางส่วนจะเป็นส่วนดีที่จะช่วยให้การผลักดันนโยบายทำได้เร็วมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมในอดีต แต่สิ่งที่ต้องพึงระวังคือ การผลักดันที่รีบร้อนจนเกินไปอาจจะเป็นการลดทอนกลไกการถ่วงดุลตรวจสอบความเหมาะสมทำให้ขาดประสิทธิภาพในการมองผลกระทบของนโยบายต่อทุกภาคส่วนอย่างรอบด้าน 

 

นอกจากนี้ ความพยายามที่จะเร่งรัดเฉพาะนโยบายของพรรคตนเอง อาจจะทำให้เกิดการหลงลืมไปว่าทุกพรรคการเมืองมีหน้าที่ในการตอบสนองต่อนโยบายที่พรรคของตนได้หาเสียงไว้กับประชาชน นั่นคือ การบริหารจัดการที่เหมาะสมต้องเป็นการเจรจาต่อรองให้ทุกนโยบายของพรรคร่วมได้รับการดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อทุกคะแนนเสียงที่ได้มา และจะเป็นมิติใหม่ถ้าสามารถผลักดันนโยบายที่ดีของฝ่ายค้านได้ด้วย
 

สาม บริษัทสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ มักจะ “เผาเงิน” ในช่วงแรก ก่อนที่จะสร้างกำไรสูงในปีหลังๆ โดยสตาร์ทอัพสีส้มของไทยก็ไม่แตกต่างกัน คือ มีทั้งนโยบายที่ใช้เงินงบประมาณเพื่อเพิ่มสวัสดิการ และมีนโยบายเพื่อปรับโครงสร้างต่างๆ ค่อนข้างมาก เช่น ปฏิรูปราชการ ตำรวจ ทหาร ค่าแรงขั้นต่ำ เป็นต้น ทำให้การบริหารงานในช่วงแรกอาจจะต้องเผชิญกับความปั่นปวนของเศรษฐกิจและสังคม และต้องรอให้การปฏิรูปออกดอกออกผลถึงจะเห็นผลกำไรในระยะยาว

 

ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าทุกสตาร์ทอัพจะประสบความสำเร็จ และความเสี่ยงที่สตาร์ทอัพจะไม่ประสบความสำเร็จอาจจะมีมากกว่าประสบความสำเร็จเสียด้วยซ้ำ แต่กระนั้น ทุกภาคส่วนต้องยอมรับว่านี่คือ “เสียง” ของประชาชนที่อยากจะให้ประเทศได้ทดลองเดินหน้าไปในลักษณะนี้ อย่างน้อยใน 4 ปีข้างหน้านี้ จึงควรจะเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่จะช่วยให้สตาร์ทอัพสีส้มสามารถทำงานให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและราบรื่นมากที่สุด 

 

ทุกภาคส่วนต้องไม่ลืมว่า... ศัตรู/คู่แข่งที่แท้จริงไม่ใช่พวกเราด้วยกันเอง แต่สตาร์ทอัพสีส้มของเราจะเป็นตัวแทนที่จะต้องเข้าไปแข่งขันกับคู่แข่งต่างๆ ในเวทีโลกให้ได้
  

โดย : ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)