posttoday

“หลินฮุ่ย” ตายประกันจ่ายค่าสินไหมทดแทน 15 ล้านบาท

20 เมษายน 2566

“หลินฮุ่ย”แพนด้าเพศเมียหนึ่งเดียวในสวนสัตว์เชียงใหม่ ตายลงในวัย 21 ปี ได้ทำประกันภัยคุ้มครองการเสียชีวิตไว้กับทิพยประกันภัย ด้วยทุนประกัน 15 ล้านบาท

ถือเป็นข่าวความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของชาวเชียงใหม่ที่ทูตสันถวไมตรี จากประเทศจีน ที่นำมาให้สวนสัตว์เชียงใหม่ดูแล คือ “หมีแพนด้า หลินฮุ่ย” ซึ่งจากข้อมูลของ นายวุฒิชัย ม่วงมัน ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ ระบุว่า ตั้งแต่แรกที่ได้รับทั้ง “ช่วง ช่วง” และ “หลินฮุ่ย” มา ได้ทำสัญญาข้อตกลงเรื่อง “ทำประกันภัยคุ้มครองการเสียชีวิตของหมีแพนด้า” ไว้กับ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)

โดยการรับประกันนั้น จะให้ความคุ้มครองการเสียชีวิตทุกกรณี ทุนประกันตัวละ 15,000,000 บาท ด้วยเหตุนี้ ส่งผลให้ทางรัฐบาลไทยเตรียมที่จะต้องจ่ายเงินจำนวน 15 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าทุนประกันชีวิตของหมีแพนด้าเพศเมีย อายุ 21 ปี ทูตสันถวไมตรีไทย-จีน ที่อยู่ในความดูแลของสวนสัตว์เชียงใหม่

สำหรับ “หลินฮุ่ย” และ “ช่วง ช่วง” ถือเป็นหมีแพนด้าคู่แรกที่รัฐบาลไทยได้ดำเนินการขอแพนด้ายักษ์ 1 คู่ จากประเทศจีนไปตั้งแต่ปี 2544 ซึ่งทางการจีนได้ส่งหมีแพนด้ามายังเมืองไทยในปี 2546 โดยถือเป็นแพนด้าคู่แรกในเมืองไทย และเป็นแพนด้าคู่สุดท้ายที่ประเทศจีนอนุมัติให้ออกนอกประเทศ โดยก่อนหน้านี้มีแพนด้าอยู่ในประเทศต่าง ๆ เพียง 5 ประเทศเท่านั้น ทั้งนี้ ในวันที่ 12 ตุลาคม 2566 ปีนี้ เป็นกำหนดส่งมอบคืน “หลินฮุ่ย” ให้กับทางการจีนในวาระครบรอบ 20 ปี แต่หมีแพนด้าเพเมียดังกล่าวก็มาเสียชีวิตเสียก่อน 

สำหรับที่มาที่ไปของ หมีแพนด้า ซึ่งจากข้อมูลของ สวนสัตว์เชียงใหม่ ระบุว่า โครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2546 เริ่มมาจาก ในปี 2544 พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ (รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) ได้เดินทางไปราชการที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และได้เจรจาขอหมีแพนด้าจากประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งสัมพันธ์ ไมตรีระหว่างประเทศ

ต่อมาเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย แจ้งว่า รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนยินดีมอบหมีแพนด้า 1 คู่ให้ประเทศไทย และวันที่ 22 ตุลาคม 2544 รัฐบาลไทย โดยคณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบ และมอบหมายให้ องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประสานงานเพื่อเตรียมความพร้อมต่าง ๆ ซึ่งต่อมามีการประชุมและดำเนินการ 

ภายใต้โครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2545 จากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็นจำนวน 39,818,313 บาท เป็นค่าก่อสร้างส่วนวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้า และมอบหมายให้กองพลทหารช่าง ค่ายภาณุรังสี จังหวัดราชบุรี เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างในระยะเวลา 210 วัน

จึงนับได้ว่า “หมีแพนด้า” ที่ทางการจีนได้ส่งมอบให้ประเทศไทยนั้น เป็น “ทูตสันถวไมตรี” แต่อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2527 ไม่มีการใช้หมีแพนด้าในฐานะทูตสันถวไมตรีอีกต่อไป แต่จีนมีการเสนอที่จะส่งแพนด้ายักษ์ไปยังชาติอื่นโดยให้ยืมเป็นเวลา 10 ปี โดยต้องจ่ายค่าธรรมเนียมพื้นฐานปีละ 1,000,000 เหรียญสหรัฐ และมีข้อกำหนดว่าลูกของแพนด้ายักษ์ใด ๆ ที่เกิดระหว่างการยืมนั้น ถือเป็นทรัพย์สินของสาธารณรัฐประชาชนจีน

สำหรับประวัติ ช่วงช่วง หลินฮุ่ย โดย ช่วงช่วง (อักษรจีนตัวย่อ: 创创, ShuangShuang) เป็นชื่อของแพนด้ายักษ์เพศผู้ ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนให้ประเทศไทยยืมจัดแสดงที่ สวนสัตว์เชียงใหม่ ในฐานะทูตสันถวไมตรีไทย-จีนโดยจัดแสดงคู่กับ หลินฮุ่ย แพนด้ายักษ์เพศเมีย ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2546มีชื่อไทยว่า "เทวัญ” และมีชื่อล้านนาว่า "คำอ้าย”

ช่วงช่วง เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2543ที่ศูนย์วิจัยและอนุรักษ์แพนด้ายักษ์ เขตอนุรักษ์วู่หลง เมืองเฉินตู มณฑลเสฉวนสาธารณรัฐประชาชนจีน เกิดจากแพนด้าตัวผู้ชื่อ ชิงชิง และแพนด้าตัวเมียชื่อ ไป่แฉว

หลินฮุ่ย (ภาษาจีน: 林惠, Lin Hui) เป็นชื่อของแพนด้ายักษ์เพศเมีย ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ให้ประเทศไทยยืมจัดแสดงที่สวนสัตว์เชียงใหม่ ในฐานะทูตสันถวไมตรีไทย-จีน เป็นเวลา 10 ปี โดยจัดแสดงคู่กับช่วงช่วง แพนด้ายักษ์เพศผู้ ตั้งแต่วันที่ 12 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2546 มีชื่อไทยว่า"เทวี” และมีชื่อล้านนาว่า "คำเอื้อง”

โดยหลินฮุ่ย เกิดเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2544ที่ศูนย์วิจัยและอนุรักษ์แพนด้ายักษ์ เขตอนุรักษ์วู่หลง เมืองเฉินตู มณฑลเสฉวนสาธารณรัฐประชาชนจีน เกิดจากแพนด้าตัวผู้ชื่อ Pan Pan (Studbook number:308)และแพนด้าตัวเมียชื่อ Tang Tang (Studbook number:446)