posttoday

เอกชนขานรับเลือกตั้ง หนุนเศรษฐกิจโต 3-4%

01 กุมภาพันธ์ 2566

ภาคเอกชนขาน รับสัญญาณการเลือกตั้ง ชี้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย มองจีดีพีไทยโตได้ 3-4% ตามหลายฝ่ายคาด พร้อมฝากหลายโจทย์ รัฐบาลใหม่ช่วยแก้ไขและสานต่อ กังวลสุญญากาศการเมือง

ขณะนี้เริ่มเห็นสัญณาณของการเลือกตั้งใกล้เข้ามาทุกทีๆ เห็นได้จากเหล่าพรรค นักการเมืองต่างตบเท้าลงพื้นที่ โชว์วิสัยทัศน์เพื่อหาเสียงกันอย่างเข้มข้น กระโดดย้ายพรรคจนฝั่นตลบ ขณะที่ภาคเอกชน ต่างขานรับสัญญาณการเลือกตั้ง แม้จะส่วนใหญ่ไม่ตื่นเต้นกับการเลือกตั้งนัก แต่ก็ยังไม่ลืมที่ฝากการบ้าน หรือโจทย์ให้รัฐบาลใหม่ ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ เร่งดำเนินการ หรือสานต่อ

 

เริ่มจากความเห็นของ นาย อธิป พีชานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า ความชัดเจนของการเลือกตั้ง มีผลทางด้านจิตวิทยาต่อภาคเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจ เพราะการเลือกตั้งเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในภาพรวม โดยคาดกันว่า จะมีเม็ดเงินสะพัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ช่วยกระตุ้นให้เกิดกำลังซื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาค นอกจากนี้เมื่อมีรัฐบาลใหม่แล้ว จะทำให้เกิดความชัดเจนนโยบายต่างๆมากขึ้น  หลังจากที่ใส่เกียร์ว่างในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง

 

หาตลาดใหม่ ฟื้นธุรกิจ SMEs 

อย่างไรก็ตาม ในฐานะตัวแทนของภาคของสภาหอการค้าฯ ได้ฝากโจทย์ถึงรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ คือ การแก้ปัญหาการฟื้นตัวของธุรกิจ SMEs เพราะเป็นธุรกิจที่มีฐานใหญ่ของประเทศ หรือ คิดเป็น 95 %  ของธุรกิจทั้งหมด และมีการจ้างงานกว่า 50 % ของธุรกิจทั้งหมด SMEs จึงมีส่วนสำคัญต่อการสร้างงาน สร้างรายได้ แต่พบว่า ธุรกิจยังมีความอ่อนแออยู่มาก โดยภาครัฐต้องเป็นหัวเรือใหญ่ในการแก้ไขปัญหา โดยไม่ใช่ให้เพียงแบงก์รัฐเข้าไปช่วยปล่อยสินเชื่อ หรือช่วยปรับโครงสร้างหนี้เท่านั้น เพราะส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับสินเชื่อ เพราะแบงก์ตั้งการ์ดไว้สูงมาก เช่น ต้องการหลักประกัน ซึ่งขอในสิ่งที่เขาไม่มี ทำให้สุดท้ายSMEs ก็ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ ดังนั้นรัฐต้องส่งเสริมเรื่องอื่นๆ เช่น การหาตลาดใหม่ เพื่อช่วยหารายได้มากขึ้น เพื่อสร้างความเติบให้กับธุรกิจระยะยาว 
 

 

2 โจทย์ แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

นอกจากนี้ ในช่วงที่เศรษฐกิจพื้นตัว ภาคการส่งท่องเที่ยวเริ่มไปได้ดี แต่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากแรงงานได้หายไปจากระบบตั้งแต่ช่วงโควิด และมีบางส่วนไม่กลับเข้ามาในระบบอีกแล้ว ซึ่งภาครัฐต้องช่วยแก้โจทย์ใน 2 ประเด็น คือ 1. ทำอย่างไรให้คนไทยกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน และมีการฝึกฝน เพิ่มทักษะแรงงานใหม่ หรือจ้างคนใหม่ เพราะปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ยังไม่มีสิ่งจูงใจให้กับนายจ้างให้เข้ามาดำเนินการในเรื่องนี้  2. แก้กม. หรือเปิดโอกาสให้คนต่างชาติเข้ามาทำงานในไทยได้มากขึ้น นอกเหนือจาก กลุ่มแรงงาน CLMV ที่ขณะนี้ก็เริ่มขาดแคลน เพราะประเทศเขาเศรษฐกิจก็เริ่มฟื้นตัว  เช่น ประเทศที่มีทักษะด้านภาษา เช่น ฟิลิปินส์ อินโดนีเซีย ปากีสถาน อินเดีย บังกลาเทศ และศีลังกา โดยประเทศอื่น เช่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ได้นำเข้าแรงงานเหล่านี้หมดแล้ว รวมทั้งเปิดกว้าง ให้ต่างชาติทำงานในอาชีพอื่นๆ ที่ไทยยังไม่เปิดกว้างในหลายสาขา 

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา การรับแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทย มีข้อจำกัดมาก ตั้งแต่ขั้นตอนการเดินทางเข้าประเทศ ค่าใช้จ่ายดำเนินการที่มีราคาสูง และใช้ระยะเวลานาน และมีความยุ่งยาก จนทำให้เกิดวงจรอุบาศเกิดขึ้นวนไปวนมา ดังนั้นรัฐบาลต้องหาทางในการนำเข้าแรงงานอย่างถูกต้อง และมีสะดวก รวดเร็วมากขึ้น และค่าใช้จ่ายลดลง เพื่อภาคธุรกิจจะได้มีแรงงานมาช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจ

 

ดูแลต้นทุนช่วย หนุนการแข่งขัน

พร้อมกันนี้ ต้องการให้ภาครัฐ ดูแลเรื่องต้นทุนของผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดการแข่งขันได้ เช่น ต้นทุนจากค่าแรงงาน ค่าไฟฟ้า เพราะเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านไทยถือว่าอยู่ในระดับสูง โดยค่าแรงงาน เวียดนาม ค่าแรงเฉลี่อยู่ที่วันละ 120-130 บาท ขณะที่ไทยเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 300 บาท ค่าไฟฟ้าละ 2.50 บาท ของไทยอยู่ที่ 5.30 บาท ทำให้นักลงทุนต่างชาติหนีไปตั้งฐานลงทุนที่ประเทศอื่น ที่มีต้นทุนที่ถูกกว่าไทย นั่นเพราะรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันในระยะยาว ดังนั้นรัฐบาลใหม่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ 

 

เศรษฐกิจโตกระจุกตัว อานิสงส์ไม่กระจายสู่รากหญ้า

สำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มองว่า มีความเป็นไปได้ที่ขยายตัวอยู่ที่ 3-4% ตามเป้าหมายที่หลายฝ่ายคาดไว้ แต่จะเป็นการเติบโตแบบกระจุกตัว คือ มีเพียงธุรกิจใหญ่ๆที่ได้อนิสงส์จากการเติบโตของจีดีพี โดยไม่กระจายตัวไปในทุกกลุ่มทุกระดับของรายได้ ดังนั้นจะเป็นการเติบแค่ตัวเลข แต่รายได้ของประชาชนยังไม่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะไม่ได้ลงสู่รากหญ้า โดยต้องให้มีการลงทุนของภาครัฐและเอกชนมากขึ้น เพื่อสร้างการจ้างงานเกิดขึ้น 

 

กังวลสุญญากาศการเมือง 

เช่นเดียวกับ นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) มองว่า ถือเป็นสัญณาณที่ดี แต่มองว่า ไทยต่างจากประเทศอื่น เศรษฐกิจกับการเมือง จะแยกออกจากกัน คือ ไม่ค่อยปฏิสัมพันธ์กันแบบตรงๆ ซึ่งแตกต่างจากต่างประเทศ ขณะที่คนไทยเกิดความชินชากับการเมืองไทยไปแล้ว  อย่างไรก็ตามมีสิ่งที่กังวล คือ ช่วงที่เป็นรอยต่อระหว่างการเลือกตั้ง หรือจัดตั้งรัฐบาลใหม่ จะเกิดสุญญากาศการเมือง เพราะรัฐบาลใหม่จะมาบริหารประเทศอย่างเร็วสุด ก็ช่วงปลายพ.ค.2566 นั่นหมายถึงเราจะไม่มีรัฐบาลไม่มีคนแก้ไขปัญหา หรือขับเคลื่อนประเทศ ถึง 5 เดือน ซึ่งจะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจอ่อนแอมาก เหลือแต่ข้าราชการประจำ ก็จำทำงานแบบใส่เกียร์ว่าง 

 

กังวลนโยบายมอมเมา ผวาค่าแรงขั้นต่ำ 600 บ.

นอกจากนี้ ยังกังวล นโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง เป็นนโยบายที่มอมเมาประชาชน โดยสัญญาว่าจะให้ เป็นการสร้างภาระให้กับประเทศ เช่น ประกาศนยโยบายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 600 บาท แม้จะระบุเวลา 5 ปี โดยไม่ได้บอกถึงที่มาของเงิน และผลกระทบที่ตามมา 

 

หวั่นหลังการเลือกตั้งการเมืองวุ่นวาย

รวมทั้ง เป็นห่วงว่าจะเกิดความวุ่นวายที่จะตามมาหลังการเลือกตั้ง ซ้ำรอยอดีตที่ผ่านมา รวมทั้งยังมีชนวนที่สร้างความขัดแย้งในสังคมอยู่มาก อาทิ การดำรงตำแหน่ง 8 ปีของนายกฯ หรือการเรียกร้องยุติคดีและปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง ที่เป็นประเด็นร้อนแรงอยู่ในขณะนี้

 

เชื่อยังมีปัจจัยหนุน ดันเศรษฐกิจไทยขยายตัว 3-4%

อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกยังมีความหวังว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3-4% แม้ว่าไตรมาสแรกของปี 65 เศรษฐกิจยังถอถอย แต่ก็คาดว่า จะมีสัญณาณทางบวก เพราะสต๊อกสินค้าในต่างประเทศ เช่น สหรัฐ ยูโรป กำลังจะหมดลง ส่วนค่าเงินบาทที่อยู่ในทิศทางแข็งค่า แต่ผู้ส่งออกก็มองว่าส่งออกยังไปได้ ขณะที่เศรษฐกิจเริ่มดีจากการท่องเที่ยว 

 

ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) กล่าวว่า ถือเป็นสัญณาณที่ดี ว่าการเลือกตั้งของไทยกำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งสร้างเชื่อมั่นให้กับผู้กอบการ นักลงทุนทั้งไทย และต่างประเทศ โดยอยากให้มีการจัดตั้งรัฐบาลได้เร็ว เพื่อจะมีการสานต่อนโยบายที่สำคัญที่ทางผู้ส่งออกได้ร้องขอไว้ ซึ่งข้อเรียกร้องที่สำคัญที่ต้องการให้รัฐบาลใหม่เข้าดูแล ได้แก่ 

 

1.ดูแลค่าเงินบาทไม่แข็งค่า ผันผวนจนเกินไป  เพราะขณะนี้ส่งออกได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทอย่างเห็นได้ชัด 

 

2.ดูแลราคาพลังงาน ที่เป็นต้นทุนหลักของผู้ประกอบการให้อยู่ในระดับแข่งขันได้ เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ที่ขณะนี้ภาครัฐยังตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้อยู่ จึงอยากให้รัฐบาลใหม่เข้ามาสานต่อนโยบายช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้การส่งออกหยุดชะงัก 

 

3.สร้างความต่อเนื่องในการทำ FTA ในกลุ่มประเทศต่างๆ เพราะตอนนี้ตลาดหลักของไทยเริ่มชะลอตัวตามเศรษฐกิจประเทศ ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการช่วยหาตลาดใหม่ให้ผู้ส่งออก และให้การขับเคลื่อนการส่งออกของไทยขับเคลื่อนได้ตามเป้าหมาย

 

ฝาก 3 นโยบายเร่งด่วนกระตุ้นเศรษฐกิจ

นโยบายเร่งด่วนที่ต้องการให้รัฐบาลใหม่ ดำเนินการ คือ

 

1.การกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการบริโภค การใช้สอย กระตุ้นการลงทุน เพื่อให้เกิดการจ้างงาน

 

2. แก้ไขเรื่องหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ให้กับภาคธุรกิจ เพราะปัจจุบัน มีธุรกิจเป็นหนี้กับแบงก์เป็นหลักล้านราย โดยอยากให้กระทรวงการคลังเร่งแบงก์ชาติให้ดำเนินการ เพราะเรื่องนื้ทำมาปีกว่าแล้วยังไม่จบ

 

3. ดูแลเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้ ทั้งของประชาชน และผู้ประกอบการไม่ให้สูงจนเป็นภาระจนเกินไป